คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1743/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “อาคาร” แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร หากจะต้องตีความเพราะตัวบทกฎหมายไม่ชัดแจ้ง ก็ต้องตีความโดยเคร่งครัดในทางที่ไม่เป็นโทษแก่ราษฎรผู้ที่จะต้องเสียภาษีอากร คำว่า “อาคาร” ตามพจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายความถึง เรือน โรง สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น สถานีบริการน้ำมันโดยปกติแล้วจะมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ตัวอาคารที่เป็นที่ทำการตู้จำหน่ายน้ำมันและหลังคาที่ปกคลุมตู้จำหน่ายน้ำมัน รวมทั้งจะต้องเปิดโล่งให้รถยนต์เข้าไปเติมน้ำมันได้ ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้รวมกันเป็นสถานีบริการน้ำมัน จึงถือว่าเป็นอาคาร
ป้ายที่มีข้อความว่า “ซูพรีม 97 ซูพรีม 92” และ “ESSO รูปเสือ” อยู่ใต้หลังคาที่ปกคลุมตู้จำหน่ายน้ำมัน เป็นป้ายที่อยู่ภายในอาคารของสถานีบริการน้ำมันที่ใช้ประกอบการค้า ทั้งเป็นป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกินหนึ่งตารางเมตร ย่อมเข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 8 (5) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 มาตรา 6 จึงไม่ต้องเสียภาษีป้าย
ป้ายที่มีข้อความว่า “AMERICAN EXPRESS” ซึ่งติดตั้งอยู่ในอาคารของโจทก์ ไม่ใช่ป้ายที่โจทก์เป็นเจ้าของ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของเทศบาลจำเลยไม่ได้สืบหาเจ้าของป้ายผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย จึงเป็นการไม่ปฎิบัติตาม พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 18 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงไม่มีอำนาจแจ้งการประเมินภาษีป้ายดังกล่าวไปยังโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายเลขที่ 52202/696 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2542 ซึ่งประเมินภาษีในปี 2541 และ 2542 สองฉบับและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2543 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษี 42,742.40 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระต้นเงินให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยเป็นราชการส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 มีอำนาจจัดเก็บภาษีรวมทั้งภาษีป้ายในเขตพื้นที่ของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นนายกเทศมนตรี มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์ของผู้รับประเมินภาษีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2542 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการประเมินค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ ประจำปี 2541 เป็นเงิน 62,616 บาท เงินเพิ่ม 6,262 บาท รวมเป็นเงิน 68,878 บาท ปี 2542 เป็นเงิน 62,616 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มทั้งสิ้น 131,494 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีดังกล่าวจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า ได้วินิจฉัยยืนตามการประเมิน ยกเว้นป้ายที่มีเครื่องหมายกรมสรรพากร เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย จำเลยที่ 2 วินิจฉัยว่าไม่ต้องเสียภาษี นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังได้แจ้งการประเมินภาษีป้ายอื่น ๆ ในสถานีบริการน้ำมันพิพาทเพิ่มเติมในปี 2541 และ 2542 อีกปีละ 10,184 บาท รวมเป็นเงิน 20,368 บาท เห็นว่า พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 8 (5) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 มาตรา 6 บัญญัติว่า เจ้าของป้ายไม่เสียภาษีป้ายสำหรับป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน ทั้งนี้ เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ นอกจากนี้กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นได้กำหนดว่า ป้ายตามมาตรา 8 (5) แห่ง พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 ต้องเป็นป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกินหนึ่งตารางเมตร กรณีนี้จึงจำต้องวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “อาคาร” มีความหมายเพียงใด ซึ่งตาม พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์ให้ความหมายของคำนี้ไว้ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติภาษีป้าย เป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร หากจะต้องตีความเพราะตัวบทกฎหมายไม่ชัดแจ้งก็ต้องตีความโดยเคร่งครัดในทางที่ไม่เป็นโทษแก่ราษฎรผู้ที่จะต้องเสียภาษีอากร ซึ่งคำว่า “อาคาร” นี้ ตามพจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายความถึง เรือน โรง สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น กรณีสถานีบริการน้ำมันนั้นโดยปกติแล้วจะมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ตัวอาคารที่เป็นที่ทำการ ตู้จำหน่ายน้ำมัน และหลังคาที่ปกคลุมตู้จำหน่ายน้ำมัน รวมทั้งสถานที่ดังกล่าวนี้จะต้องมีลักษณะเปิดโล่งให้รถยนต์ขับเข้าไปเติมน้ำมันได้ ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้รวมกันเป็นสถานีบริการน้ำมัน และถือว่าเป็นอาคารตามความหมายในพระราชบัญญัติภาษีป้าย เมื่อปรากฎว่าป้ายที่มีข้อความว่า “ซูพรีม 97 ซูพรีม 92” และ “ESSO รูปเสือ” อยู่ใต้หลังคาที่ปกคลุมตู้จำหน่ายน้ำมัน จึงเป็นป้ายที่อยู่ภายในอาคารของสถานีบริการน้ำมันที่ใช้ประกอบการค้า ทั้งได้ความว่าป้ายที่มีข้อความว่า “ซูพรีม 97 ซูพรีม 92” มีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 70 เซนติเมตร และป้ายที่มีข้อความว่า “ESSO รูปเสือ” มีขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 100 เซนติเมตร อันเป็นป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกินหนึ่งตารางเมตร ย่อมเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 8 (5) แห่ง พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 มาตรา 6 โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีป้ายทั้งสองดังกล่าว
สำหรับป้ายที่มีข้อความว่า “AMERICAN EXPRESS” ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้าสถานีบริการน้ำมัน รวม 2 ป้าย นั้น ตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการสำหรับภาษีป้ายใด เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายนั้นได้ ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย ถ้าไม่อาจหาตัวผู้ครอบครองป้ายนั้นได้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้งหรือแสดงอยู่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามลำดับ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินภาษีป้ายเป็นหนังสือไปยังบุคคลดังกล่าว” ป้ายดังกล่าวนี้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นเจ้าของ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องหาตัวเจ้าของป้ายนั้น แต่จากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของตนสืบหาเจ้าของป้ายหรือไม่ และป้ายดังกล่าวมีประโยชน์แก่โจทก์อย่างไร แต่กลับได้ความจากคำเบิกความของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า สำหรับป้ายที่มีข้อความว่า “AMERICAN EXPRESS” นั้น หากจะสืบหาเจ้าของป้ายนี้ ก็สามารถสืบหาได้เพราะบริษัทดังกล่าวมีชื่อเสียง แสดงว่าทางฝ่ายจำเลยที่ 1 ไม่มีการสืบหาเจ้าของป้ายผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายแต่อย่างใด ที่ศาลภาษีอากรกลางสรุปข้อเท็จจริงว่า เป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายนั้นได้ เป็นการฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลฎีกาย่อมฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ดังกล่าว การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่สืบหาเจ้าของป้ายผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1จึงไม่มีอำนาจแจ้งการประเมินภาษีป้ายนี้ไปยังโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายเลขที่ สค 52202/696 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2542 ของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ซึ่งประเมินภาษีในปี 2541 และ 2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2542 ของจำเลยที่ 2 เฉพาะป้ายที่มีข้อความว่า “ซูพรีม 97 ซูพรีม 92” “ESSO รูปเสือ” และ “AMERICAN EXPRESS” ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีป้ายจำนวน 10,336 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share