คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1743/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาเช่าที่ตกลงให้ผู้เช่าชำระค่าบริการและค่าใช้จ่ายใด ๆอันเกี่ยวกับห้องเช่า และให้ผู้เช่าวางเงินประกันความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาแก่ผู้ให้เช่า โดยผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดเงินประกันได้หากผู้เช่าผิดสัญญา นั้น สิทธิยึดเงินประกันดังกล่าวมีเพียงเพื่อหักชำระค่าเสียหายและค่าบริการต่าง ๆ ตามสัญญาเท่านั้น หากมีเงินเหลือผู้ให้เช่าต้องคืนให้ผู้เช่า.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2529 โจทก์ได้เช่ากิจการร้านทำผมชื่อ ศรวณีบาร์เบอร์ บริเวณศูนย์การค้าราชดำริอาเขตจากจำเลย ค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท มีกำหนด 2 ปี โดยชำระค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือน และวางเงินประกันค่าเสียหาย โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าและให้จำเลยคืนค่าเช่าและเงินประกันรวม 60,000 บาท แก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยไม่ต้องคืนเงินค่าเช่าประจำเดือนกรกฎาคม 2529 จำนวน 20,000 บาท ให้โจทก์และโจทก์มีหน้าที่ตามสัญญาเช่าต้องชำระเงินค่าเช่าสถานที่ร่วมเป็นเงิน 800 บาท ค่าบริการอากาศเย็น เป็นเงิน 4,600 บาท ค่าบริการในบริเวณใช้ร่วมเป็นเงิน 1,100 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,500 บาทให้แก่บริษัทราชดำริอาเขต จำกัด ทุกต้นเดือน แต่โจทก์ไม่ชำระจนกระทั่งวันที่ 18 กรกฎาคม 2529 จำเลยต้องนำเงินไปชำระแทนโจทก์มิฉะนั้นบริษัทดังกล่าวอาจบอกเลิกสัญญาเช่าอาคารแก่จำเลยได้จำเลยทวงถามเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์แล้วแต่โจทก์ไม่ชำระ ถือได้ว่าโจทก์ประพฤติผิดสัญญาเช่า และต่อมาวันที่ 1 ถึง 5 สิงหาคม 2529 โจทก์ไม่ชำระเงินค่าเช่าห้องประจำเดือนสิงหาคม 2529 แก่จำเลยตามสัญญาเช่า จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาและริบเงินประกันค่าเสียหายเป็นเบี้ยปรับจำนวน 40,000 บาท เสีย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 33,500 บาท แก่โจทก์พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1กรกฎาคม 2529 โจทก์ได้เช่ากิจการร้านทำผม ชื่อ ศรวณีบาร์เบอร์ซึ่งอยู่ที่ศูนย์การค้าราชดำริอาเขตจากจำเลยค่าเช่าเดือนละ20,000 บาท มีกำหนดเวลา 2 ปี และตกลงชำระค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือนและให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหาย จำนวน 40,000 บาท ปรากฏตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.1 หลังจากทำสัญญาเช่ายังไม่ถึงหนึ่งเดือนโจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงได้ทำหนังสือลงวันที่ 19กรกฎาคม 2529 และลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2529 บอกเลิกสัญญาเช่าไปยังจำเลย ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.9 หลังจากจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวจากโจทก์แล้ว จำเลยได้ทำหนังสือลงวันที่ 1 สิงหาคม 2529แจ้งว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเลิกสัญญา ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.11 ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2529 จำเลยได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์และเรียกให้โจทก์ชำระค่าเช่าเดือนสิงหาคม จำนวน 20,000 บาท กับชำระค่าบริการจำนวน 6,500 บาทและแจ้งการรับเงินประกันค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.11 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมิได้ผิดสัญญา แต่เมื่อโจทก์และจำเลยต่างก็บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินประกันค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาท ให้แก่โจทก์โดยหักค่าบริการที่จำเลยชำระแทนโจทก์ระหว่างเช่าออกเสียก่อนเป็นเงิน 6,500 บาท โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินประกันส่วนที่เหลือ 33,500 บาท คืนจากจำเลยได้จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเงินประกันค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาท คืนหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาประเด็นเดียวกับในชั้นอุทธรณ์
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยมิได้ผิดสัญญาและคู่กรณีต่างบอกเลิกสัญญาซึ่งกันและกันแล้ว สัญญาย่อมเลิกกันคู่กรณีต่างกลับสู่ฐานะเดิม สำหรับจำนวนเงิน40,000 บาท ที่โจทก์วางเป็นประกันค่าเสียหายไว้นั้น ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 5 ระบุว่า เงินจำนวนดังกล่าวโจทก์วางไว้กับจำเลยเพื่อประกันความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดจากการผิดสัญญาของผู้เช่า และผู้ให้เช่าจะคืนให้เมื่อครบสัญญาแล้วไม่มีความเสียหายอย่างใด ๆ เกิดขึ้น กับสัญญาข้อ 6 ระบุว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าจะต้องชำระค่าบริการและค่าใช้จ่ายอย่างใด ๆ อันเกี่ยวกับห้องและกิจการทุกอย่างด้วย และสัญญาข้อ 13 ระบุว่า หากผู้เช่าประพฤติผิดสัญญาไม่ว่าข้อใด ผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดเงินประกันค่าเสียหายตามข้อ 5 ได้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า ความหมายของข้อสัญญาดังกล่าวนี้มีเพียงว่า จำเลยผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดเงินประกันเพื่อชำระค่าเสียหายนั้นเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทำความเสียหายใด ๆ แก่ทรัพย์สินที่เช่า คงได้ความเพียงว่าในเดือนกรกฎาคม 2529ขณะสัญญาเช่ายังคงมีผลอยู่ โจทก์ไม่ชำระค่าเช่ารวมเป็นเงิน800 บาท ค่าบริการอากาศเย็นเป็นเงิน 4,600 บาท และค่าบริการในบริเวณใช้ร่วมเป็นเงิน 1,100 บาท รวมเป็นเงิน 6,500 บาท แก่บริษัทราชดำริอาเขต จำกัด ซึ่งจำเลยต้องชำระแทนโจทก์ไป จึงเป็นความเสียหายที่จำเลยได้รับและมีสิทธิหักจากเงินประกันดังกล่าวจึงต้องหักเงินดังกล่าวออกจากเงินที่วางประกันไว้ ส่วนที่เหลือต้องคืนให้โจทก์…”
พิพากษายืน.

Share