คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1742/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่าพ้นโทษตามมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ.2472 ก็คือพ้นโทษที่ได้รับจริงๆ ในคดีก่อน เมื่อในคดีก่อนจำเลยไม่ได้รับโทษจำคุกโดยศาลรอการลงโทษไว้มีกำหนด 1ปี จึงไม่มีวันพ้นโทษจำคุกที่จะถือเอาเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษจำเลยได้ และการที่ศาลรอการลงโทษจำคุกไว้ก็ไม่ใช่โทษซึ่งเมื่อครบ 1 ปีตามที่รอไว้แล้วจะได้เป็นการพ้นโทษไปได้ในตัว ทั้งมาตรา 58 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายอาญาก็บัญญัติไว้ด้วยว่า ถ้าภายในเวลาที่ศาลได้กำหนดตามมาตรา 56 ผู้นั้นมิได้กระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรกของ มาตรา 58 นั้น ก็ให้ผู้นั้นพ้นจากการที่จะถูกลงโทษในคดีนั้นซึ่งก็แสดงอยู่ชัดแจ้งว่าผู้นั้นหรือจำเลยไม่เคยถูกลงโทษมาก่อนนั่นเอง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยพ้นโทษแล้วยังไม่ครบ 3 ปี มากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติฝิ่นนี้อีก จึงเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ.2472 ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีฝิ่นดิบหนัก ๔ กิโลกรัมไว้ในความครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ก่อนคดีนี้จำเลยซึ่งมีอายุเกิน ๑๗ ปีแล้ว เคยต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. ๒๔๗๒ ตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลจังหวัดเลยมาแล้ว ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ๓ เดือน ปรับ ๒,๕๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๑ ปี เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๒๕ พ้นโทษแล้วยังไม่ครบ ๓ ปี จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. ๒๔๗๒ มาตรา ๕๓, ๖๘, ๖๙ พระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๕ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. ๒๔๗๒ มาตรา ๕๓, ๖๙ พระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๕ ให้จำคุก ๔ ปี เพิ่มโทษตามมาตรา ๖๘(๑) เป็นจำคุก ๔ ปี และปรับ ๘๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี และปรับ ๔๐๐,๐๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ มีกำหนดเวลา ๒ ปี ของกลางให้ริบ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษน้อยลงและรอการลงโทษ กับขอให้ยกคำขอเพิ่มโทษของโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องโจทก์ว่า จำเลยเคยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. ๒๔๗๒ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ๓ เดือน ปรับ ๒,๕๐๐ บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ ๑ ปี โดยศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๒๕ จำเลยได้มากระทำผิดในคดีนี้อีก เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๖ เห็นว่า ตามมาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. ๒๔๗๒ บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพ้นโทษแล้ว ยังไม่ครบสามปี กระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้อีก
(๑) ถ้าโทษซึ่งกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำครั้งหลังเป็นโทษปรับหรือจำคุก ก็ให้วางโทษทั้งปรับทั้งจำ
(๒) ถ้าโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำครั้งหลังเป็นแต่เพียงโทษปรับก็ให้ปรับทวีคูณ”
คำว่าพ้นโทษตามมาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. ๒๔๗๒ ดังกล่าวข้างต้น ก็คือพ้นโทษที่ได้รับจริง ๆ ในคดีที่ก่อนนั่นเอง เมื่อในคดีก่อนจำเลย ไม่ได้รับโทษจำคุก จึงไม่มีวันพ้นโทษจำคุกที่จะถือเอาเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษจำเลยได้และการที่ศาลรอการลงโทษจำคุกไว้ก็ไม่ใช่เพียงซึ่งเมื่อครบ ๑ ปี ตามที่รอไว้แล้วจะได้เป็นการพ้นโทษไปได้ในตัว ทั้งตามมาตรา ๕๘ วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายอาญาก็บัญญัติไว้ด้วยว่า ถ้าภายในเวลาที่ศาลได้กำหนดตามมาตรา ๕๖ ผู้นั้นมิได้กระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรกของมาตรา ๕๘ นั้น ก็ให้ผู้นั้นพ้นจากการที่จะถูกลงโทษในคดีนั้นซึ่งก็แสดงอยู่ชัดแจ้งว่าผู้นั้นหรือจำเลบยไม่เคยถูกลงโทษมาก่อนนั้นเอง กรณีจึงถือไม่ได้ว่า จำเลยพ้นโทษแล้วยังไม่ครบ ๓ ปี มากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติฝิ่นนี้อีกจึงเพิ่มโทษจำเลยตาม มาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. ๒๔๗๒ ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทเพิ่มโทษจำเลยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้นกรณีความผิดตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. ๒๔๗๒ มาตรา ๕๓ นี้ บัญญัติให้ลงโทษจำคุกและปรับ ศาลฎีกาเห็นสมควรลงโทษจำคุกจำเลยผู้กระทำผิดแต่เพียงสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. ๒๔๗๒ มาตรา ๕๓แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๕ ให้จำคุก ๔ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอันเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share