คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 174/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่าและมิได้จดทะเบียนตามบรรพ 5มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม จึงไม่ใช่ทายาท และไม่มีส่วนได้เสียที่จะขอตั้งและถอนผู้จัดการมรดก

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของนางริ้ว อาจงานหลวง เจ้ามรดกก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และมิได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2518 นางริ้วอาจงานหลวง ถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ปัญหามีว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้สั่งถอนผู้จัดการมรดก และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ เห็นว่า แม้กฎหมายลักษณะมรดกบทที่ 12 บัญญัติให้บุตรบุญธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมในภาคญาติ แต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะมรดก ร.ศ. 121 บัญญัติให้ญาติของผู้มรณภาพตามที่กำหนดไว้เป็นขั้น ๆ ในพระราชบัญญัตินั้นได้รับมรดกในภาคญาติ แต่สำหรับบุตรบุญธรรมไม่ได้กำหนดไว้ จึงเห็นได้ว่านับแต่ ร.ศ. 121 เป็นต้นมาบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม และกฎเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมกฎที่ 51 ซึ่งตราขึ้นเมื่อ ร.ศ. 128 ก็ได้ระบุกระแสร์พระบรมราชโองการในปัญหานี้อีกว่า บุตรบุญธรรมรับมรดกไม่ได้ เว้นไว้แต่มีพินัยกรรม ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกตามกฎหมายเก่าก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ต่อมาเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และ 6 แล้ว แม้จะมีบทบัญญัติให้บุตรบุญธรรมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมและให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่บุตรบุญธรรมตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงเฉพาะผู้ที่จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น มิได้รวมถึงบุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่าดังกล่าวด้วย ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งถึงแก่กรรมหลังจากที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 507/2519ระหว่าง นายพิชัย แก้วประดิษฐ์ โจทก์ นางจำปา สิกขา จำเลย เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกและไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดก ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิจะร้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดกและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก”

พิพากษายืน

Share