คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1734/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ส. เอาเช็คซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของบัญชีเช็คมาเขียนสั่งจ่ายเงิน ต่อมาโจทก์ผู้ทรงนำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ เช่นนี้ ส. ผู้สั่งจ่ายย่อมต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ตามเนื้อความแห่งเช็คนั้น

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า นางสุดสงวน ศิริศิลป์ ภรรยาจำเลยได้เขียนเช็คสั่งจ่ายเงินมอบให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ ต่อมานางสุดสงวนตาย แล้วโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปขอรับเงินจากธนาคารแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าไม่ใช่ลายมือผู้สั่งจ่ายโจทก์ได้ติดต่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุดสงวน แต่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมรับรู้ จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คไม่ใช่ลายเซ็นชื่อของนางสุดสงวน แม้ฟังว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อนางสุดสงวน ก็เป็นเรื่องที่โจทก์นำเช็คบุคคลอื่นซึ่งมีชื่อยู่ในเช็คมาให้นางสุดสงวนเป็นผู้สั่งจ่ายเพื่อใช้เป็นหลักฐานที่นางสุดสงวนกู้ยืมไปจากโจทก์นางสุดสงวนไม่มีเงินฝากในธนาคาร จึงมิใช่ผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยชอบ โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็คหาได้ไม่ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยใช้เงินตามเช็ค แต่พิพากษาแก้ในเรื่องการให้ดอกเบี้ย

จำเลยฎีกาว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คของนายเจือ วิทยานันท์ ผู้เป็นเจ้าของบัญชีเช็ค การที่นางสุดสงวนผู้ซึ่งไม่ใช้เจ้าของบัญชีเช็คเซ็นเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงิน จึงเป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988(7)

ศาลฎีกาได้หยิบยกมาตรา 987 และมาตรา 988 ขึ้นอ้างแล้ววินิจฉัยว่าเมื่อบุคคลใดทำเป็นหนังสือตราสารซึ่งมีรายการครบถ้วนบริบูรณ์ตามลักษณะดังกล่าวแล้วก็เป็นเช็ค เมื่อผู้ทรงนำไปขึ้นเงินไม่ได้ ผู้สั่งจ่ายเช็คก็ย่อมต้องรับผิด โดยเฉพาะเช็คพิพาทหมาย จ.1 นี้ ฟังได้ว่านางสุดสงวนได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย ผู้สั่งจ่ายก็ต้องมีหน้าที่รับผิดใช้เงินโจทก์ตามเนื้อความแห่งเช็คนั้น ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 914, 989 กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายต้องเป็นเจ้าของบัญชีเช็ค

พิพากษายืน

Share