แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การทำถนนคอนกรีตบนทางภารจำยอมไม่เป็นการเพิ่มภารจำยอม (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 33/2503)
่จดทะเบียนภารจำยอมว่าเป็นทางเดิน ของผู้ที่อยู่ในโฉนดซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของ แต่แล้วใช้ทางนี้เป็นทางรถด้วยก็ดี หรือมีคนอื่นซึ่งอยู่ในที่ดินโฉนดของจำเลยได้ใช้เป็นทางเดินด้วยก็ดี ก็ยังไม่เป็นการเพิ่มภารจำยอม
เมื่อการจดทะเบียนภารจำยอมยังคงอยู่แม้ผู้ใช้ทางนั้น จะอ้างว่าเป็นทางสาธารณก็ไม่ถือว่าสละสิทธิภารจำยอม (ย่อ ก.ม. มาตรา 140 แห่ง ป.วิ.พ. อยู่ตอนท้าย)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ถึง ที่ ๖ และผู้อื่นไปร้องต่อเทศบาลจำเลยที่ ๑ ให้สร้างถนนคอนกรีตบนทางภารจำยอมอันเป็นที่โจทก์ทำเป็นทางรถ ให้คนอื่นซึ่งไม่มีสิทธิมาใช้ร่วม อ้างเป็นทางสาธารณะเป็นการเพิ่มภารจำยอม ทำให้เสียหายแก่ที่ดิน และเป็นการสละสิทธิภารจำยอม ส่วนจำเลยที่ ๓ ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้เดิน กลับแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อโจทก์ ๆ จึงไม่อนุญาตให้เดินต่อไป ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่รายนี้ไม่ใช่ทางสาธารณ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ให้ถอนทะเบียนภารจำยอม ให้ใช้ค่าเสียหาย ให้รื้อถนนคอนกรีตออก ถ้าไม่รื้อ ให้ใช้เงินสำหรับที่โจทก์จะรื้อเอง
เทศบาลจำเลยที่ ๑ ให้การว่า การทำถนนคอนกรีตดังกล่าวไม่เป็นการเสียหายแก่โจทก์ และไม่เป็นการเพิ่มภารจำยอม ทั้งเดิมทางนี้นอกจากเป็นทางเดิน ก็ยังเป็นทางรถเข้าออกอยู่แล้ว
จำเลยที่ ๒, ๔, ๕, ๖ ให้การว่า ตนเป็นเข้าของสามยทรัพย์ มีสิทธิทำทางเป็นถนนคอนกรีตได้ โจทก์ไม่มีสิทธิรื้อ การจดทะเบียนภารจำยอม ไม่ได้จดเป็นทางเท้าหรือมีข้อห้ามไม่ให้ใช้เป็นทางรถ ทิ้งไว้เป็นทางกว้าง ๒ วา ย่อมเป็นทางรถ แม้จะได้เคยอ้างว่าเป็นทางสาธารณะ ก็ไม่เป็นเหตุให้ถือว่าภาระจำยอมหมดประโยชน์จำเลยที่ ๓ ให้การว่า มิได้ใช้ทางนี้โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ แต่ที่ดินของจำเลยที่ ๓ ตกอยู่ในที่ล้อม ไม่มีทางอื่นออก ย่อมมีสิทธิออกได้ และจำเลยที่ ๓ ได้ใช้เป็นทางปรปักษ์มาเกิน ๑๐ ปี จำเลยทุกคนว่า การกระทำของจำเลยทุกคนไม่เป็นละเมิด โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย
วันชี้สองสถาน จำเลยแถลงว่า ได้ทำถนนคอนกรีตลงบนที่ของโจทก์แต่การกระทำเช่นนี้ จะเป็นการเสียหายหรือไม่ ขอให้ศาลวินิจฉัย โจทก์แถลงว่า พอใจที่จำเลยรับค่าเสียหายขอให้ศาลพิจารณาตามสมควรและว่า โจทก์ไม่มีที่ดินอยู่นอกจากที่ซึ่งเป็นทางพิพาทรายนี้ โจทก์จะขอสืบพยานว่า เมื่อจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ ๒, ๔, ๕, ๖ ได้ปลูกบ้านให้เช่าและให้ผู้เช่าใช้เดินทางนี้ สภาพของที่ดินที่ภารยทรัพย์และสามยทรัพย์เป็นอย่างไร เมื่อก่อนและหลังจดภารจำยอมแล้ว นอกนั้นไม่สืบ จำเลยแถลงว่า ขอสืบแก้ข้อที่โจทก์จะสืบเท่านั้น
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน วินิจฉัยว่า ที่ทั้งหมดตกอยู่ในภาระจำยอมอันยัง โจทก์จะเอาไปทำประโยชน์อะไรก็ไม่ได้ การที่จำเลยทำเป็นถนนคอนกรีตใช้ทางเพิ่มขึ้น จำเลยบางคนเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ย่อมมีสิทธิจัดการภารจำยอมของเขาได้ตามสมควร ไม่เป็นละเมิด การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงไม่เป็นละเมิดด้วย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ยังมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ อยู่ข้อหนึ่งว่า มีสิทธิใช้ทางพิพาทนี้อย่างไร พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลพิจารณาประเด็นดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ แล้ว พิพากษาใหม่
โจทก์และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ตามฟ้องว่า จำเลยสร้างถนนคอนกรีตบนทางทำให้เป็นทางรถให้คนอื่นซึ่งไม่มีสิทธิมาใช้ร่วม อ้างเป็นสาธารณภารจำยอม ปัญหาว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการเพิ่มภารจำยอมแก่ที่ดินหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ที่พิพาททั้งแปลงกว้าง ๒ วา ที่ได้จดทะเบียนภารจำยอมเป็นทางเดินของผู้ที่อยู่ในที่ดินโฉนดที่ ๔๑๒๖ ซึ่งจำเลยที่ ๒, ๔, ๕, ๖ เป็นเจ้าของการทำทางนี้เป็นถนนคอนกรีตทำให้ทางเดินสะดวกขึ้นตามความเจริญของบ้านเมือง โจทก์ไม่มีที่ดินติดนี้แล้วไม่มีทางกระทบกระเทือนต่อประโยชน์ของโจทก์ จึงไม่เป็นการยอม ข้อที่ใช้ทางเป็นทางรถก็ดี การที่คนอื่นซึ่งอยู่ในที่ดินโฉนดดังกล่าวของทางเดินด้วยก็ดี ก็ไม่เป็นการเพิ่มภาระจำยอมเช่นเดียวกัน เพราะตามที่ไม่ได้จำกัดว่ารถเดินไม่ได้ คนอื่นเดินไม่ได้แต่อย่างใดเลย
ส่วนที่โจทก์กล่าวว่า จำเลยอ้างว่าเป็นทางสาธารณะ เป็นการสละสิทธินั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่เป็นการสละสิทธิภารจำยอม เพราะการจดจำยอมยังคงอยู่ มิได้เลิกไป ก็เป็นแต่การกระทำของจำเลยโดยไม่สมควรอยู่บ้างเท่านั้น ไม่มีกฎหมายบังคับว่า ในกรณีเช่นนี้ จะต้องมีการบอก
สำหรับจำเลยที่ ๓ คดีฟังได้ตามเอกสารท้ายฟ้องประกอบโฉนดว่า ที่ดินของจำเลยที่ ๓ ตกอยู่ในที่ล้อม ไม่มีทางออกนอกจากทางพิพาท และจำเลยที่ ๓ ได้ใช้เดินมาเกิน ๑๐ ปี สมข้อต่อสู้ของจำเลย โจทก์มิได้ขอนำสืบหักล้าง เอกสารดังกล่าว และมิได้ขอนำสืบว่า โจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยที่ ๓ ใช้ทางเดินดังที่บรรยายในฟ้อง ตามรูปคดี จะห้ามจำเลยที่ ๓ ไม่ให้เกี่ยวข้องกับที่พิพาทและให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มิได้
ศาลฎีกาพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น