คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1726/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาตรา 26/4 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดความรับผิดของผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ ส่วนมาตรา 26/5 เป็นบทบัญญัติกำหนดให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถเรียกค่าเสียหาย ตามมาตรา 26/4 เข้ามาพร้อมกับคำฟ้องคดีอาญาอันมีลักษณะเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ มิได้เป็นกฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญาที่ต้องห้ามมิให้มีผลย้อนหลัง แม้คดีนี้ตามฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิด เมื่อระหว่างต้นเดือนเมษายน 2559 ถึงวันที่ 26 เมษายน 2559 อันเป็นวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 อันเป็นเวลาภายหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายทางทรัพยากรธรรมชาติ 2,939,692 บาท แก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ค่าภาคหลวง 1,505.30 บาท เป็นเงินค่าธรรมเนียมซึ่งผู้ทำไม้หรือเก็บหาของป่าจะต้องเสียตามความใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และค่าเสียหายของรัฐ 15,053 บาท เป็นค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มิใช่ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหายหรือเสียหายตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2559 มาตรา 26/4 พนักงานอัยการจึงเรียกค่าภาคหลวงและค่าเสียหายของรัฐโดยอาศัย พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2559 มาตรา 26/5 เข้ามาในคดีนี้ไม่ได้ คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลชั้นต้นยังมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และมิได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยยังมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลยและโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะทำให้เป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2559 มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 6, 7, 9, 11, 54, 55, 69, 72 ตรี, 73, 74 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 7, 8, 14, 26/4, 26/5, 31, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบไม้ของกลาง และให้จำเลยชดใช้ค่าภาคหลวง 1,505.30 บาท ค่าเสียหายของรัฐ 15,053 บาท และค่าเสียหายเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ 2,939,692 บาท แก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กับให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 67 วรรคสอง, 72 ตรี วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2), 72 ตรี วรรคสอง, 73 วรรคสอง (2) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (ที่ถูก 31 วรรคสอง (2) (เดิม)) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานตัดไม้หวงห้ามและยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ที่ถูก ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 11, 73 วรรคสอง (2)) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปจำคุก 2 ปี รวมจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ให้จำเลยชดใช้ค่าภาคหลวง 1,505.30 บาท ค่าเสียหายของรัฐ 15,053 บาท ค่าเสียหายเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ 2,939,692 บาท แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กับให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยไปออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีในส่วนอาญาไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 คงมีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์เฉพาะในคดีส่วนแพ่งว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำขอของโจทก์ในส่วนแพ่งโดยวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาตรา 12 เพิ่มความในมาตรา 26/4 และ 26/5 ให้อำนาจพนักงานอัยการโจทก์เรียกค่าเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ถูกทำลาย ทำให้สูญหาย หรือเสียหายจากผู้กระทำความผิดไปในคราวเดียวกันในการดำเนินคดีอาญาได้ แต่ก็ใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 พฤษภาคม 2559 อันเป็นเวลาภายหลังเกิดเหตุและโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 26/4 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดความรับผิดของผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ ส่วนมาตรา 26/5 เป็นบทบัญญัติกำหนดให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถเรียกค่าเสียหาย ตามมาตรา 26/4 เข้ามาพร้อมกับคำฟ้องคดีอาญาอันมีลักษณะเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ มิได้เป็นกฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญาที่ต้องห้ามมิให้มีผลย้อนหลัง แม้คดีนี้ตามฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิด เมื่อระหว่างต้นเดือนเมษายน 2559 ถึงวันที่ 26 เมษายน 2559 อันเป็นวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 อันเป็นเวลาภายหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายทางทรัพยากรธรรมชาติ 2,939,692 บาท แก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ค่าภาคหลวง 1,505.30 บาท เป็นเงินค่าธรรมเนียมซึ่งผู้ทำไม้หรือเก็บหาของป่าจะต้องเสียตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และค่าเสียหายของรัฐ 15,053 บาท เป็นค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มิใช่ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหายหรือเสียหายตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 26/4 พนักงานอัยการจึงเรียกค่าภาคหลวงและค่าเสียหายของรัฐโดยอาศัยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 26/5 เข้ามาในคดีนี้ไม่ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วนแต่คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลชั้นต้นยังมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และมิได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (4) (5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยยังมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลยและโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะให้เป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งของศาลชั้นต้นและยกคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งในส่วนค่าเสียหายทางทรัพยากรธรรมชาติ 2,939,692 บาท ของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่งในส่วนค่าเสียหายทางทรัพยากรธรรมชาติ 2,939,692 บาท แล้วพิจารณาและพิพากษาไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share