แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินของบ. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่เป็นการฟ้องขอแบ่งมรดกของเจ้ามรดกจากจำเลยซึ่งโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของบ.สามารถฟ้องเพื่อติดตามทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกให้กลับมาเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1336และกรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความในการติดตามเอาทรัพย์สินคืนไว้จึงนำอายุความมรดก1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1754วรรคหนึ่งมาใช้บังคับไม่ได้คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ชั้นอุทธรณ์คดียังคงมีประเด็นข้อพิพาทว่าว.รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยชอบหรือไม่และโจทก์มีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนการโอนหรือไม่ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีในประเด็นข้อพิพาททั้งสองข้อดังกล่าวและจำเลยก็ได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านไว้ทั้งโจทก์ก็ได้ยื่นแก้อุทธรณ์เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ไว้แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบแต่ในชั้นฎีกาแม้ประเด็นข้อพิพาททั้งสองข้อนี้คู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงกันมาเสร็จสิ้นกระแสความแล้วก็ตามแต่ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัยเสียก่อนทั้งนี้เพื่อให้การวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาหลักของคดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของพันจ่าเอกบรรจบเอมอุดม ตามคำสั่งศาล และจำเลยก็เป็นผู้จัดการมรดกของพันตำรวจเอก (พิเศษ)วิศิษฐ์ เอมอุดม ตามคำสั่งศาล พันจ่าเอกบรรจบมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 10918 และที่ดินโฉนดเลขที่ 2902 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 2902 นั้น พันจ่าเอกบรรจบมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับพันตำรวจเอก (พิเศษ)วิศิษฐ์และนายสุรพงษ์ เอมอุดม เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2529 พันจ่าเอกบรรจบถึงแก่กรรม ต่อมาในวันที่ 13 มกราคม 2529 จ่าสิบตำรวจชาญ สร้อยสน ได้นำหนังสือมอบอำนาจของพันจ่าเอกบรรจบไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงให้พันตำรวจเอก (พิเศษ)วิศิษฐ์ นิติกรรมการให้ที่ดินดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้บังคับจำเลยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 10918 และโฉนดที่ดินเลขที่2902 ไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินระหว่างพันจ่าเอกบรรจบ ผู้ให้ กับพันตำรวจเอก (พิเศษ) วิศิษฐ์ ผู้รับ กลับคืนเป็นชื่อของพันจ่าเอกบรรจบตามเดิม ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์มิได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท อีกทั้งได้ใช้สิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของพันจ่าเอกบรรจบเกินกว่า 1 ปี และโจทก์ได้นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่พันจ่าเอกบรรจบได้ถึงแก่กรรม การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีการจดทะเบียนการยกให้โดยเปิดเผย ไม่มีทายาทอื่นคัดค้านขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 10918 และโฉนดที่ดินเลขที่ 2902 ไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินระหว่างพันจ่าเอกบรรจบ เอมอุดม ผู้ให้ กับพันตำรวจเอกวิศิษฐ์เอมอุดม ผู้รับ กลับคืนเป็นชื่อของพันจ่าเอกบรรจบตามเดิมณ สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม3,500 บาท
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายแต่เพียงประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่10 มกราคม 2529 พันจ่าเอกบรรจบล เอมอุดม ถึงแก่กรรม ต่อมาในวันที่ 13 มกราคม 2529 จ่าสิบตำรวจชาญ สร้อยสน ได้หนังสือมอบอำนาจของพันจ่าเอกบรรจบไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงให้พันตำรวจเอก (พิเศษ) วิศิษฐ์ เอมอุดม นิติกรรมการให้ที่ดินดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยนำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการให้กลับคืนมาเป็นชื่อของพันจ่าเอกบรรจบ ตามเดิม เห็นว่าตามฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินของพันจ่าเอกบรรจบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่เป็นการฟ้องขอแบ่งมรดกของเจ้ามรดกจากจำเลย โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของพันจ่าเอกบรรจบสามารถฟ้องเพื่อติดตามทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกให้กลับมาเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336กรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความในการติดตามเอาทรัพย์สินคืน ดังนั้น จะนำอายุความมรดก 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับไม่ได้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คดียังคงมีประเด็นข้อพิพาทข้อ (3) และ (4) ที่ว่าพันตำรวจเอกวิศิษฐ์รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยชอบหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนการโอนหรือไม่ ตามลำดับ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีในประเด็นข้อพิพาททั้งสองข้อดังกล่าวซึ่งจำเลยก็ได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านไว้และโจทก์ก็ได้ยื่นแก้อุทธรณ์เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ไว้ แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบและแม้ประเด็นข้อพิพาททั้งสองข้อนี้คู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงกันมาเสร็จสิ้นกระแสความแล้วก็ตามแต่ศาลฎีกา เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัยเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อให้การวินิจฉัยรับฟ้องข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาหลักของคดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นข้อพิพาทที่ยังมิได้วินิจฉัยตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่