คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1717/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยจ่ายค่าอาหารให้แก่โจทก์หรือลูกจ้างอื่นซึ่งประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร ก็เพราะทางสำนักงานใหญ่ไม่ได้จัดอาหารเลี้ยงดัง เช่นลูกจ้างที่โรงงานอำเภอสีคิ้ว การจ่ายค่าอาหารให้จึงเป็นการให้ความสงเคราะห์แก่ลูกจ้างของจำเลย อันมีลักษณะเป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง เงินจำนวนดังกล่าวมิได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ ฉะนั้นไม่ว่าจะเรียกเงินดังกล่าวว่าเป็นค่าอาหารหรือค่าครองชีพ และจะจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนหรือไม่ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ ครั้งสุดท้ายได้รับค่าจ้างเดือนละ 6,900 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 950 บาท ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้กระทำความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 15วัน เป็นเงิน 4,400 บาท และค่าชดเชยเป็นเงิน 47,100 บาทให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ดจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 6,900 บาทตามฟ้องแต่โจทก์ไม่ได้รับค่าครองชีพ
ในวันนัดพิจารณา คู่ความรับข้อเท็จจริงกันว่า ลูกจ้างของจำเลยซึ่งประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ จำเลยจะจ่ายค่าอาหารให้ทุกคนเป็นประจำทุกเดือนส่วนลูกจ้างซึ่งประจำอยู่ที่โรงงานอำเภอสีคิ้วไม่มีสิทธิได้รับค่าอาหารเพราะจำเลยจัดอาหารเลี้ยง โจทก์เป็นลูกจ้างประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ ได้รับค่าอาหารเดือนละ 950 บาทจไเลยได้มีคำสั่งย้ายโจทก์ให้ไปประจำที่โรงงานอำเภอสีคิ้ว เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2529 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2529
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 4,400 บาท และค่าชดเชยจำนวน 47,100 บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “การที่จะนำเงินมาคิดคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยนั้น ต้องคิดคำนวณจากค่าจ้าง จากข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันดังกล่าวมาแล้วข้างต้นพึงเห็นได้ว่า การที่จำเลยจ่ายค่าอาหารให้แก่โจทก์หรือลูกจ้างอื่นซึ่งประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพมหานครนั้น ก็เพราะทางสำนักงานใหญ่ไม่ได้จัดอาหารเลี้ยงดังเช่นลูกจ้างที่โรงงานอำเภอสีคิ้วการจ่ายค่าอาหารให้จึงเป็นการให้ความสงเคราะห์แก่ลูกจ้างของจำเลยอันมีลักษณะเป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง เงินจำนวนดังกล่าวมิได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นากรตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ ฉะนั้นไม่ว่าจะเรียกเงินดังกล่าวว่า เป็นค่าอาหารหรือค่าครองชีพและจะจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนหรือไม่ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินจำนวน 950 บาทนี้มารวมเป็นฐานในการคิดคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยได้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 3,450 บาท และค่าชดเชยจำนวน 41,400 บาทให้แก่โจทก์”

Share