คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1705/2547

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 309 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมีความหมายแต่เพียงว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในครั้งถัด ๆ มานั้น หากมีผู้ซื้อทรัพย์เสนอราคาสูงสุดไม่น้อยกว่าราคาสูงสุดในครั้งก่อนที่มีผู้เสนอซื้อไว้ และเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ชอบที่จะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในครั้งหลังนี้ไปได้เลย โดยไม่จำต้องฟังว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีจะคัดค้านว่าราคาต่ำไปหรือไม่อีก ทั้งนี้เพื่อให้การบังคับคดีดำเนินต่อไปได้โดยไม่ชักช้า มิได้มีความหมายว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวในครั้งถัด ๆ มาเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในจำนวนไม่น้อยกว่าราคาสูงสุดที่มีผู้เสนอซื้อในครั้งก่อน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและคำบังคับให้จำเลยใช้เงินจำนวน5,291,123.06 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน4,319,976.03 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 30791 และ 30792 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง(ของจำเลย) ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยจนครบกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 30791 และ 30792 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาด ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปในราคาแปลงละ 1,000,000 บาท รวม 2 แปลงเป็นเงินจำนวน 2,000,000 บาท

โจทก์ยื่นคำร้องว่า ที่ดินทั้งสองแปลงที่ขายทอดตลาดมีอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่งปลูกอยู่และมีเนื้อที่ 210 ตารางวา ตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัย มีสาธารณูปโภคครบถ้วนมีราคาซื้อขายในภาวะปัจจุบัน 3,200,000 บาท ตามสำเนารายงานสำรวจหลักทรัพย์และสำเนาภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้างท้ายคำร้อง ราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์จึงต่ำเกินไป นอกจากนี้ในการขายทอดตลาดทรัพย์ในครั้งก่อนมีผู้เสนอราคาซื้อไว้2,020,000 บาท โจทก์คัดค้านราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงให้งดการขาย ดังนั้นการขายทอดตลาดครั้งนี้ราคาที่เหมาะสมจะต้องไม่น้อยกว่า 2,020,000 บาท การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายไปในราคา 2,000,000 บาท จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดครั้งนี้แล้วมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดใหม่

ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้าน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่30791 และ 30792 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2537 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดิน 2 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยตามคำฟ้องเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้แปลงละ1,000,000 บาท การขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวในครั้งแรกเมื่อวันที่18 เมษายน 2543 นางสาวแคทรีน่า วรรณศักดา ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดแปลงละ 1,010,000 บาท โจทก์คัดค้านราคาว่าควรขายในราคาแปลงละ 3,000,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงให้เลื่อนการขายและให้โจทก์หาผู้มาสู้ราคาในการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองครั้งต่อไปในวันที่ 15 สิงหาคม 2543 เมื่อถึงวันนัดขายทอดตลาดดังกล่าวโจทก์และจำเลยไม่มา นางสาวแคทรีน่าผู้ซื้อทรัพย์ได้เสนอราคาสูงสุดเพียงแปลงละ 1,000,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่เสนอซื้อในครั้งก่อน แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เคาะไม้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าว ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2543 โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าวข้างต้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ข้อแรกว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ในราคาต่ำกว่าราคาที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอซื้อไว้ในการขายทอดตลาดครั้งก่อนนั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า “ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีอาจคัดค้านว่า ราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควรในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินไป และในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งต่อ ๆ ไป หากมีผู้เสนอราคาสูงสุดในจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนที่ผู้เสนอราคาสูงสุดได้เสนอในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งก่อน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคานั้นได้” ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมมีความหมายแต่เพียงว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในครั้งถัด ๆ มานั้น หากมีผู้ซื้อทรัพย์เสนอราคาสูงสุดไม่น้อยกว่าราคาสูงสุดในครั้งก่อนที่มีผู้เสนอซื้อไว้ และเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ชอบที่จะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในครั้งหลังนี้ไปได้เลย โดยไม่จำต้องฟังว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีจะคัดค้านว่าราคาต่ำไปหรือไม่อีก ทั้งนี้เพื่อให้การบังคับคดีดำเนินต่อไปได้โดยไม่ชักช้าหาได้มีความหมายว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวในครั้งถัด ๆ มาเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในจำนวนไม่น้อยกว่าราคาสูงสุดที่มีผู้เสนอซื้อในครั้งก่อนดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยไม่ หากแปลความบทบัญญัติดังกล่าวดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย ก็อาจเกิดข้อขัดข้องในการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีนี้ได้ เช่น ในกรณีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ย่อมมีผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ทำให้ที่ดินมีราคาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นในการขายทอดตลาดทรัพย์ในครั้งถัด ๆ มาจึงอาจไม่มีผู้ใดมาเสนอซื้อทรัพย์รายนี้ในราคาที่ไม่น้อยกว่าราคาสูงสุดที่มีผู้เสนอซื้อไว้ในครั้งก่อนได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะไม่สามารถเคาะไม้ขายทรัพย์รายนี้ได้เลยไม่ว่าเวลาจะผ่านไปช้านานเท่าใด หากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น หรือมิฉะนั้นหากลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องการประวิงการขายทอดตลาดทรัพย์ของตนก็อาจสมคบกับบุคคลภายนอกให้มาเสนอซื้อทรัพย์ไว้ในราคาที่สูงกว่าราคาปกติมาก ๆ แล้วลูกหนี้ตามคำพิพากษาคัดค้านราคาดังกล่าวว่าต่ำเกินสมควรซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะต้องเลื่อนการขายทอดตลาดไปตามที่มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าในการขายทอดตลาดครั้งถัด ๆ ไป เป็นการยากที่จะมีผู้มาเสนอซื้อทรัพย์ในราคาที่ไม่น้อยกว่าราคาทรัพย์ที่มีผู้สร้างราคาซื้อขายไว้ในครั้งก่อนได้ หากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าราคาที่ผู้เสนอซื้อครั้งหลังเป็นราคาที่สมควรหรือไม่ และไม่มีอำนาจเคาะไม้ขายหากเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาที่มีผู้เสนอซื้อไว้ในครั้งก่อน การขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็จะเนิ่นช้าไปโดยไม่มีกำหนดซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่น่าจะประสงค์ให้เกิดผลเช่นนั้น ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายทรัพย์จำนองรายนี้ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ในราคาที่น้อยกว่าราคาสูงสุดที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอซื้อไว้ในครั้งก่อน จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของมาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองรายนี้ของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้วพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองรายนี้ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองแล้วพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้ออื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์และคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาว่าขายไปในราคาต่ำเกินสมควร การวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ อาจมีผลทำให้คดีต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสุดท้าย จึงเห็นสมควรให้ส่งสำนวนคืนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อให้พิจารณาพิพากษาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบด้วยมาตรา 247 ปัญหาข้ออื่นตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป

อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้ถูกต้องครบถ้วนเห็นสมควรให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ด้วย

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่”

Share