คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1704/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 มีวัตถุประสงค์ควบคุมโรงเรียนเอกชนให้เป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ มิใช่กฎหมายซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้าง หรือเพื่อแสวงหาและคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับการจ้างหรือกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างอันเป็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แม้ใน พระราชบัญญัติ ดังกล่าวจะกำหนดการคุ้มครองการทำงานและการสงเคราะห์ครูใหญ่และครู หรือกำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองการทำงาน และการอุทธรณ์ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายที่จะขจัดข้อพิพาทระหว่างครูใหญ่และครูกับผู้รับอนุญาตหรือผู้จัดการแต่อย่างใด ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนเอกชนฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกรณีถูกจำเลยเลิกจ้างจึงหาจำต้องดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติ โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 แต่อย่างใดไม่.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ในตำแหน่งครูโรงเรียนคำนวณศิลป์ศึกษา ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของ ต่อมาจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้รับใบอนุญาตให้เป็นเจ้าของโรงเรียนคำนวณศิลป์ศึกษา โจทก์ที่ 1 เป็นผู้เช่ากิจการโรงเรียนจากจำเลย และเป็นผู้รับโจทก์ที่ 2 ที่ 3 เข้าทำงานเป็นครูโจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย ข้อเรียกร้องของโจทก์เป็นข้อขัดแย้งหรือข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นระหว่างผู้รับใบอนุญาตกับผู้จัดการครูใหญ่หรือครูตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงานโจทก์ต้องเสนอข้อเรียกร้องของโจทก์ต่อคณะกรรมการคุ้มครองการทำงาน ที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเสียก่อน และหากไม่พอใจคำวินิจฉัยก็ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเสียก่อน จึงจะนำมาฟ้องคดี แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 มิใช่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ การนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์หาต้องผ่านการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานก่อนไม่ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 คนละ 12,300 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ 2,050 บาท จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน8,700 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 1,450บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘จำเลยอุทธรณ์เกี่ยวกับอำนาจฟ้องว่าพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 เป็นกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเมื่อมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับค่าชดเชยหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า การนำคดีมาสู่ศาลแรงงานก็ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยเสนอข้อขัดแย้งต่อคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดเสียก่อนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคสอง พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522วรรคสอง บัญญัติว่า ‘คดีตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์บัญญัติให้ร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ จะดำเนินการในศาลแรงงานได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้แล้ว’ ตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่คู่ความจะนำคดีไปสู่ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาได้นั้น จะต้องพิจารณากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ว่าบัญญัติวางวิธีการหรือขั้นตอนที่จะต้องปฏิบัติไว้อย่างไรบ้างพิเคราะห์บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 ปรากฏว่าบัญญัติไว้ดังนี้ หมวด 1 คณะกรรมการการศึกษาเอกชน หมวด 2 ลักษณะและการจัดตั้งโรงเรียน หมวด 3 การบริหารและการควบคุมโรงเรียน หมวด4 จรรยา มรรยาท วินัย และหน้าที่ หมวด 5 การอุดหนุน ส่งเสริม และช่วยเหลือโรงเรียน ครูใหญ่ และครู ทั้งห้าหมวดนี้แสดงให้เห็นว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ควบคุมโรงเรียนเอกชนให้เป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ มิใช่กฎหมายซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างหรือเพื่อแสวงหาและคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับการจ้าง หรือกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างอันเป็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แม้ว่าในหมวด 6 จะกำหนดการคุ้มครองการทำงานและการสงเคราะห์ครูใหญ่และครู หรือหมวด 7 กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองการทำงาน และหมวด 9 การอุทธรณ์ บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน หมวดต่างๆ ดังกล่าวก็มิใช่กฎหมายที่จะขจัดข้อพิพาทระหว่างครูใหญ่และครู กับผู้รับใบอนุญาตหรือผู้จัดการแต่อย่างใด ดังนั้น พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525จึงไม่ใช่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ การนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์เนื่องจากถูกจำเลยเลิกจ้างหาจำต้องดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 แต่อย่างใดไม่ การฟ้องคดีของโจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น…’
พิพากษายืน.

Share