คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1702/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จะปรากฏตามทะเบียนสำมะโนครัวว่าจำเลยได้ย้ายจากห้องพิพาทไปตั้งร้านจำหน่ายเครื่องเรือนอยู่ที่อีกจังหวัดหนึ่งแล้วก็ตาม จำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะนำสืบว่าความจริงมิได้เป็นเช่นว่านั้นได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เพราะบทกฎหมายมาตรานี้มิได้บัญญัติห้ามในกรณีเช่นนี้

ย่อยาว

คดีได้ความว่าจำเลยที่ 1 เช่าห้องพิพาทจากโจทก์เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย มิได้ประกอบการค้าอย่างใดและไม่ได้ให้ใครเช่าช่วงการที่จำเลยที่ 2 มีชื่อในสำมะโนครัวที่ห้องพิพาทก็เพื่อการขอติดต่อน้ำประปาใช้เท่านั้น จำเลยที่ 2 หาได้เข้าอยู่อาศัยในห้องพิพาทจริงจังไม่ และที่จำเลยที่ 1 ย้ายสำมะโนครัวไปอยู่ที่ห้องจังหวัดธนบุรีก็เพื่อสะดวกแก่การขอจดทะเบียนพาณิชย์และการค้าให้บุตรแต่จำเลยที่ 1 และครอบครัวยังคงอยู่ในห้องพิพาท

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองว่า จำเลยได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้องโจทก์

ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อปรากฏตามทะเบียนสำมะโนครัวว่าจำเลยได้ย้ายจากห้องพิพาทไปตั้งร้านจำหน่ายเครื่องเรือนอยู่ที่จังหวัดธนบุรีแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิที่จะสืบว่าความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะการสืบเช่นนี้เป็นการสืบแก้ไขเอกสารมหาชนผิดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการสืบข้อเท็จจริงดังนี้ ย่อมสืบได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 มิได้บัญญัติห้ามในกรณีเช่นนี้

Share