คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 170/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขายที่ดินและโรงเรือนให้แก่ญาติกัน โดยตกลงกันด้วยปากเปล่า ก่อนทำหนังสือสัญญาซื้อขายว่า ภายใน 10 ปีผู้ซื้อยอมให้ผู้ขายมีสิทธิไถ่คืนได้ ถือว่าการตกลงด้วยปากเปล่าดังนี้เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนแล้ว ข้อตกลงเช่นนี้ ก็สูญเปล่าไม่มีผลบังคับแก่กันได้ สัญญาซื้อขายที่ทำกันในภายหลังนั้น จึงสำเร็จเด็ดขาดไป แต่เมื่อปรากฎว่าต่อมาอีก 2 ปีเศษ ผู้ซื้อกับผู้ขายได้ทำหนังสือสัญญากันอีก ให้คำมั่นสัญญาว่า ที่ดินและโรงเรือนรายนี้จะไม่ขายคนอื่น และภายใน 10 ปีนับแต่วันซื้อขาย ผู้ขายมีเงินจะซื้อกลับผู้ซื้อพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันเซ็นสัญญา ดังนี้ ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นคำมั่นจะขายตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 456 วรรค 2 ผู้ขายเดิมจึงมีสิทธิจะฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาใหม่นี้ได้

ย่อยาว

โจทย์ฟ้องขอไถ่ที่ดินและโรงเรือนจากจำเลย
จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ผิดสัญญาเอง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยขายบ้านพิพาทตามสัญญาซื้อขายหมาย ล.๑ และ จ. ๑ คืนให้โจทก์ ฯลฯ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว ได้ความว่า เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒โจทก์ได้ขายที่ดินและโรงเรือนพิพาทให้แก่จำเลยเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ทำสัญญาซื้อขายกัน ณ ที่ว่าการอำเภอตามหนังสือหมาย ล.๑ ก่อนทำหนังสือกับโจทก์จำเลยตกลงกันด้วยปากว่าภายใน ๑๐ ปี ยอมให้โจทก์มีสิทธิไถ่คืนได้ ต่อมาเมื่อทำหนังสือซื้อขายหมาย ล.๑ แล้ว โจทก์จำเลยได้ทำสัญญากันอีกฉะบับหนึ่ง ตามความที่ตกลงกันไว้ก่อนทำเอกสารหมาย ล.๑ นั้น ต่อมาหนังสือฉบันนี้หายไป โจทก์จำเลยจึงทำหนังสือกันอีกฉบับหนึ่งคือเอกสาร หมาย จ.๑ ฯลฯ
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์จำเลยตกลงกันด้วยปากก่อนการทำหนังสือสัญญาซื้อขายหมาย ล.๑ ว่าภายใน ๑๐ ปี ยอมให้โจทก์มีสิทธิไถ่คืนได้นั้น ลักษณะเป็นทำนองขายฝาก แต่การตกลงกันทั้งนี้เพียงแต่พูดกันด้วยปากเปล่า ข้อตกลงเช่นว่านี้ จึงสูญเปล่า ไม่มีผลอันจะบังคับแก่กันได้ สัญญาซื้อขายหมาย ล.๑ จึงสำเร็จเด็ดขาดไป โดยไม่มีภาระอื่นผูกพัน แต่หลังจากการขายกันไปแล้ว ๒ ปีเศษ จำเลยกลับไปทำหนังสือสัญญาให้โจทก์อีกฉบับหนึ่ง คือเอกสาร จ.๑ ให้คำมั่นสัญญาว่า ที่ดินและโรงเรือนรายนี้จะไม่ขายให้คนอื่น และภายใน ๑๐ ปีนับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย โจทก์มีเงินจะซื้อกลับ จำเลยยินยอมขายกลับให้ตามราคาซื้อที่ระบุในข้อ ๑ คือ ๓๐๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามกฎหมาย ดังนี้ สัญญาฉะบับนี้จึงเป็นคำมั่นจะขาย และได้ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชอบด้วย ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๔๕๖ วรรค ๒ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาได้
จึงพิพากษายืน

Share