คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 170/2489

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเคยถูกลงโทษฐานลักเล่นการพะนันไพ่ พ้นโทษไปยังไม่เกิน 3 ปีมากระทำผิดฐานเล่นการพะนันไพ่นกกระจอกโดยมิได้รับอนุญาตอีก ศาลตัดสินลงโทษตาม พ.ร.บ.การพะนัน (ฉะบับที่ 3) พ.ศ.2485 มาตรา 3 จำคุก 10 วัน ปรับ 40 บาท แต่โทษจำให้ยกเสียตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.40 ได้ ไม่เป็นการขัดแย้งกับ พ.ร.บ.การพะนัน
(ฎีกาที่ 277/2482)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานสมคบกันเล่นการพะนันไพ่นกกระจอกโดยมิได้รับอนุญาต นางบ๊วยผู้เข้าเล่นเคยถูกลงโทษฐานลักเล่นการพะนันไพ่ พ้นโทษไปยังยังไม่เกิน ๓ ปี มากระทำผิดขึ้นอีก
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกนางบ๊วย ตาม พ.ร.บ.การพะนัน (ฉะบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๘๕ มาตรา ๓ มีกำหนด ๒๐ วัน ปรับอีก ๖๐ บาท ลดฐานสารภาพแล้ว คงจำคุกนางบ๊วย ๑๐ วัน ปรับ ๔๐ บาท
นางบ๊วยอุทธรณ์ขอให้ยกโทษจำคุก
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกโทษจำคุกให้แก่นางบ๊วยตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม.๔๐ นอกนั้นยืน
โจทก์ฎีกาว่า พ.ร.บ.การพะนัน (ฉะบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๘๕ มาตรา ๓ บัญญัติให้วางโทษทั้งจำคุกและปรับ ศาลอุทธรณ์จะยก ก.ม.ลักษณะอาญา ม.๔๐ มาใช้ไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.การพะนันเป็นกฎหมายพิเศษ
ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ก็ได้ลงโทษจำคุกนางบ๊วยแล้วหากแต่เห็นว่ามีเหตุอันควรที่จะยกโทษจำคุกให้แก่นางบ๊วยเสียตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.๔๐
ปัญหาที่ว่า ศาลจะยก ก.ม.ลักษณะอาญา ม.๔๐ มาใช้ได้หรือไม่นั้น เรื่องทำนองนี้ได้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นแบบอย่างไว้แล้ว คือ ฎีกาที่ ๒๗๗/๒๔๘๒ ระหว่างอัยยการพิจิตร์โจทก์ นายโชติ กับพวก จำเลยว่า ศาลมีอำนาจยกมาตรา ๔๐ แห่ง ก.ม.ลักษณะอาญาใช้ได้ มิได้เป็นการขัดแย้งกัน จึงพิพากษายืน

Share