คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1697/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้เสียหายในคดีที่อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 7 เป็นโจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 ในคดีอาญา โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามคำพิพากษา ในคดีอาญานั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
ข้อเท็จจริงในคดีอาญาฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รับของโจร สายไฟฟ้าจำนวน 168 เมตร จะต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ 2,360 บาท ดังนั้นเมื่อ จำเลยที่ 2 ในฐานะบิดาของ จำเลยที่ 1 (ผู้เยาว์) ถูกฟ้องให้รับผิด ในทางแพ่ง จำเลยที่ 2 คงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 แม้จำเลยที่ 2 จะเคยทำหนังสือรับชดใช้ค่าเสียหาย ให้แก่โจทก์ไว้เป็น จำนวนเงิน 14,463 บาท 75 สตางค์ ก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็หาต้องรับผิด ตามจำนวนเงินใน หนังสือดังกล่าวไม่ เพราะเกินจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ลักสายไฟฟ้าอะลูมิเนียม ยาว ๑,๐๑๕ เมตรราคา ๑๔,๔๖๓.๗๕ บาท ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับจำเลยที่ ๑ ได้ขณะนำสายไฟฟ้าบางส่วนไปขาย จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนว่าได้ลักสายไฟฟ้าจำนวนดังกล่าวไปจริง แต่ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เยาว์ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบิดาต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงได้ทำหนังสือรับชดใช้ค่าเสียหายชำระหนี้แทนจำเลยที่ ๑ เมื่อถึงกำหนดจำเลยผิดนัด จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ลักสายไฟฟ้า ๑,๐๑๕ เมตร ราคา๑๔,๔๖๓.๗๕ บาทตามฟ้อง คงรับของโจรสายไฟฟ้ายาว ๑๖๘ เมตร ราคา ๓,๓๘๐.๔๐บาท เท่านั้น หากจำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดก็รับผิดเท่าจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ทำหนังสือรับชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยความหลงผิด จึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๓,๔๖๓.๗๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดเป็นเงิน ๒,๓๖๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของโจทก์มีว่า ศาลต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๓๗/๒๕๒๓ ของศาลมณฑลทหารบกที่ ๗ (ศาลจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอฝาง) มาผูกพันโจทก์คดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนว่าลักสายไฟฟ้าจำนวน ๑,๐๑๕ เมตรแต่ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ทันที โดยที่โจทก์ยังไม่ได้สืบพยานให้ปรากฏแก่ศาลถึงความผิดที่ได้กระทำลง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโจทก์คดีนี้มิได้มีฐานะเป็นคู่ความตามกฎหมายในคดีอาญาดังกล่าว กรณีจึงไม่ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญานั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโจทก์คดีนี้จะไม่ใช่คู่ความ แต่ก็เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าว โจทก์ จำเลยที่ ๑ จึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีอาญานั้นด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๔๖ และปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้ให้การรับสารภาพข้อหารับของโจรศาลชั้นต้นจึงพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ กระทำความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ และลงโทษจำเลยที่ ๑ คดีถึงที่สุดแล้วข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญาจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ รับของโจรสายไฟฟ้าจำนวน ๑๖๘ เมตรแน่นอนแล้ว จะฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่าจำเลยที่ ๑ ลักสายไฟฟ้าจำนวน ๑,๐๑๕ เมตรให้ขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาหาได้ไม่ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้องตามที่จำเลยที่ ๒ ได้ทำหนังสือรับชดใช้ค่าเสียหายไว้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๓ หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ รับของโจรสายไฟฟ้าจำนวน ๑๖๘ เมตร จะต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ ๒,๓๖๐ บาท ดังนั้น จำเลยที่ ๒ ในฐานะบิดาของจำเลยที่ ๑ คงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๒๙ หาต้องรับผิดตามจำนวนเงินในหนังสือรับชดใช้ค่าเสียหายตามเอกสารหมาย จ.๓ ไม่ เพราะเกินจำนวนเงินที่จำเลยที่ ๒ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ตามกฎหมาย
พิพากษายืน

Share