แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่ผู้มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักร แต่บิดาเป็นคนต่างด้าว กระทำผิด พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสารฯโดยบังอาจมีตั้งและใช้เครื่องส่งและรับวิทยุติดต่อกับต่างประเทศนั้น เป็นการกระทำอันเป็นเหตุที่ศาลจะสั่งให้ถอนสัญชาติไทยได้
มาตรา 7 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติซึ่งแก้ไข เป็นเรื่องเกี่ยวแก่การได้สัญชาติโดยการเกิด หาได้หมายถึงเรื่องที่จะสั่งถอนสัญชาติตามมาตรา 16 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นบุตรนายจี นางกิมซึ่งเป็นบุคคลเชื้อชาติกวางตุ้ง สัญชาติจีน จำเลยเกิดที่ตำบลเซียงกง อำเภอสัมพันธวงศ์จังหวัดพระนคร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2459 จำเลยจึงเป็นผู้มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักร เมื่อจำเลยอายุประมาณ 13-16 ปีได้ไปอยู่ในประเทศจีนติดต่อกันตลอดมา และนับแต่บรรลุนิติภาวะแล้วจำเลยอยู่ในประเทศจีนเกินกว่า 10 ปี ได้เรียนหนังสือจีนและทำงานในกองทหารของรัฐบาลจีนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองแสดงว่าจำเลยยังคงถือเอาสัญชาติจีนอันเป็นสัญชาติแห่งบิดามารดาเป็นสัญชาติตน เมื่อกลับเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรแล้ว จำเลยได้กระทำผิดต่อ พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสาร 2478 เป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของชาติ โดยรัฐบาล (กรมไปรษณีย์ฯ ) เสียหายขาดรายได้ (เท่าที่พบหลักฐาน) เป็นเงิน 20,063.40 บาท นอกจากนี้การกระทำของจำเลยยังเป็นภยันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐและเป็นการขัดต่อสิทธิของประเทศที่จะปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการวิทยุสื่อสารและที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ทั้งยังเป็นการขัดต่อความสุขเกษมและความเจริญแห่งสาธารณชน ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะถือเอาสัญชาติไทยควรให้ถือสัญชาติจีนตามเชื้อชาติเดิมของจำเลย ขอให้พิพากษาสั่งถอนสัญชาติไทยของจำเลยเสียตามความในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 มาตรา 16 ให้สั่งประกาศคำสั่งถอนสัญชาติไทยของจำเลยในราชกิจจาฯ
จำเลยให้การว่า เมื่อยังเป็นเด็กเคยไปอยู่ประเทศจีน แต่ภายหลังที่บรรลุนิติภาวะแล้วไม่เคยไปอยู่ติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองติดอยู่ที่ประเทศจีนกลับประเทศไทยไม่ได้เพราะการปิดพรมแดนและภัยแห่งสงครามซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สงครามยุติแล้วจึงกลับประเทศไทยอยู่ตลอดมาจนบัดนี้ ไม่เจตนาสละสัญชาติไทยจำเลยเรียนหนังสือจีนและหนังสือไทยในประเทศไทย ไม่เคยทำงานในกองทหารรัฐบาลจีน ไปประเทศจีนเพื่อทำการค้าขายและทำงานอื่น ๆไม่เคยทำผิด พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสาร และทำผิดอย่างใดมาก่อน บิดามารดาก็มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยเป็นหลักฐาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาสั่งถอนสัญชาติไทยของจำเลย เพราะเหตุที่จำเลยกระทำการบังอาจมี ตั้งและใช้ซึ่งเครื่องส่งและรับวิทยุติดต่อกับต่างประเทศ ฯลฯ (ผิดต่อ พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสารฯ) ให้ประกาศคำสั่งถอนสัญชาติในราชกิจจาฯ เมื่อคดีถึงที่สุด
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์เชื่อฟังได้ว่า จำเลยได้บังอาจมีตั้งและใช้เครื่องส่งและรับวิทยุติดต่อกับต่างประเทศและเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ความเป็นมาของจำเลยแล้ว กรณีมีเหตุผลสมควรที่จะสั่งให้ถอนสัญชาติไทยของจำเลย
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อจำเลยเกิดในประเทศไทย ถือสัญชาติไทยอยู่ก่อน พ.ศ.2495 โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอให้ถอนสัญชาติของจำเลยโดยอ้างว่าความใน พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) 2496 มาตรา 3 ซึ่งแก้ไขมาตรา 7 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ 2495 ประกอบกับ พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) มาตรา 4 บัญญัติว่า ไม่กระทบกระเทือนถึงผู้ที่ได้สัญชาติอยู่แล้ว ก่อนวัน พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 2) 2496 บังคับนั้น ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติเป็นเรื่องการได้สัญชาติโดยการเกิด ที่ว่าไม่กระทบกระเทือนถึงผู้ได้สัญชาติไทยอยู่ก่อน จึงย่อมหมายถึงเรื่องการได้สัญชาติโดยการเกิดเท่านั้นหาได้หมายถึงเรื่องการที่จะสั่งถอนสัญชาติไทย ตามมาตรา 16 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ 2495 ไม่ พิพากษายืน