แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่ง ป.รัษฎากร ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่น จะต้องเป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้ว ไม่ใช่เป็นแต่เพียงสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับมาในภายหน้า
เช็คจำนวน 16 ฉบับที่โจทก์ได้รับจาก ด. ในปีภาษี 2534 เป็นเช็คที่ลงวันที่ล่วงหน้าสั่งจ่ายเงินในปี 2535 และ 2536 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารในปีภาษี 2534 แม้โจทก์สามารถนำเช็คดังกล่าวไปซื้อขาย แลกเปลี่ยน ใช้หนี้หรือใช้เป็นหลักประกันในทางธุรกรรมได้ แต่ก็เป็นสิทธิโดยชอบของโจทก์ที่จะเลือกใช้วิธีการดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ ทั้งการชำระหนี้ด้วยเช็คนั้น หนี้จะระงับสิ้นไปต่อเมื่อเช็คนั้นได้ใช้เงินแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคสาม เมื่อโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินตามกำหนดที่สั่งจ่ายในปี 2535 และ 2536 เช็คจำนวน 16 ฉบับที่โจทก์ได้รับมาในปีภาษี 2534 ดังกล่าว จึงเป็นเพียงสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับมาในอนาคต ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับเงินได้พึงประเมินเป็นเงิน 2,245,000 บาท ตามเช็คที่สั่งจ่ายล่วงหน้าดังกล่าวนั้น ในปีภาษี 2534 ซึ่งจะต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2534 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และขอให้งดเบี้ยปรับทั้งหมด
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้แก้ไขการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยมิให้ถือจำนวนเงินตามเช็คที่เรียกเก็บไม่ได้อีก 16 ฉบับ จำนวน 2,254,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ในปีภาษี 2534 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 1,200 บาท ส่วนคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ปี 2534 โจทก์ขายที่ดิน พร้อมตึกแถวแก่นางดลยา ในราคา 10,375,400 บาท ในส่วนราคาที่ดิน 6,300,000 บาท นั้น โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็ค 7 ฉบับ รวม 4,046,000 บาท ได้แล้ว ส่วนอีก 16 ฉบับที่เป็นเช็คลงวันที่สั่งจ่ายล่วงหน้าในปี 2535 และ 2536 รวม 2,254,000 บาท ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ตามกำหนด โจทก์จึงต้องฟ้องผู้สั่งจ่ายทั้งทางแพ่งและทางอาญา แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับเงินจำนวนนั้น ปีภาษี 2534 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะเงินเดือนที่ได้รับ จำเลยจึงประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้เพิ่มอีก 1,624,810 บาท เบี้ยปรับ 1,814,816 บาท และเงินเพิ่ม 1,291,723.95 บาท โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินชอบแล้ว แต่มีเหตุควรผ่อนผันแก่โจทก์จึงลดเบี้ยปรับลงเหลือร้อยละ 50 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีเพียงว่า จำนวนเงินตามเช็คอีก 16 ฉบับ รวม 2,254,000 บาท ที่นางดลยาสั่งจ่ายล่วงหน้าในปี 2535 และ 2536 เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ในปีภาษี 2534 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่ง ป.รัษฎากรนั้น ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่น จะต้องเป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้ว ไม่ใช่เป็นแต่เพียงสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับมาในภายหน้า เมื่อเช็ค 16 ฉบับที่โจทก์ได้รับจากนางดลยาในปี 2534 เป็นเช็คที่ลงวันที่ล่วงหน้าสั่งจ่ายเงินในปี 2535 และ 2536 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารในปีภาษี 2534 อุทธรณ์ของจำเลยที่กล่าวอ้างว่า เงินได้พึงประเมินประเภทเงินสดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 39 รวมถึงตราสารที่มีค่าเสมือนเงินสด เช่น ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเช็คซึ่งมีลักษณะเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่งด้วย เมื่อโจทก์ได้รับเช็คชำระราคาที่ดิน 23 ฉบับ ที่นางดลยาสั่งจ่ายเป็นเงินสดหรือผู้ถือ โจทก์ย่อมสามารถนำไปซื้อขาย แลกเปลี่ยนใช้หนี้หรือใช้เป็นหลักประกันในทางธุรกรรมได้ทุกประเภทเต็มตามมูลค่าที่ระบุไว้ในเช็คแต่ละฉบับ โจทก์จึงต้องนำยอดเงินตามเช็ค รวมทั้ง 23 ฉบับ มาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินในปี 2534 เพื่อเสียภาษีนั้น เป็นเพียงคำอธิบายลักษณะของตราสารที่มีค่าเสมือนเงินสดว่าจะพึงนำไปใช้จ่ายแทนเงินสดได้อย่างไรบ้างเท่านั้น แต่ก็ละเว้นเสียไม่อธิบายให้กระจ่างถึงแก่นแท้ว่า ในกรณีที่ตั๋วเงินเหล่านั้นยังไม่ถึงกำหนดใช้เงินดังเช่นเช็คทั้ง 16 ฉบับ ของโจทก์นั้น หากนำไปซื้อขาย แลกเปลี่ยน บรรดาผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะต้องถูกชักส่วนลด ได้เงินไม่เต็มตามมูลค่าที่ระบุในตั๋วแลกเงินนั้น เพราะผู้รับโอนอาจต้องรับภาระเสี่ยงต่อการไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ตามกำหนด และเป็นสิทธิโดยชอบของโจทก์ที่จะเลือกใช้วิธีการดังที่จำเลยกล่าวหรือไม่ก็ได้ ทั้งการชำระหนี้ด้วยเช็คนั้น หนี้จะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อเช็คนั้นได้ใช้เงินแล้ว ตามมาตรา 321 วรรคสาม แห่ง ป.พ.พ. ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มิได้ใช้วิธีการเช่นนั้นเพื่อให้ได้เงินตามเช็คจำนวนนั้น หากแต่ใช้วิธีเรียกเก็บจากธนาคารตามกำหนดสั่งจ่ายในปี 2535 และ 2536 เช็คจำนวน 16 ฉบับที่โจทก์ได้รับมาในปีภาษี 2534 ดังกล่าว จึงเป็นเพียงสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับมาในอนาคต ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับเงินได้พึงประเมินเป็นเงิน 2,254,000 บาท ตามเช็คที่สั่งจ่ายล่วงหน้าจำนวน 16 ฉบับนั้นในปีภาษี 2534 ซึ่งจะต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2534 ด้วย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์.