คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 169/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจำหน่ายคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา132 นั้นไม่เป็นบทบังคับเด็ดขาดศาลอาจชี้ขาดคดีตามมาตรา133 ก็ได้ แต่การจะชี้ขาดดังกล่าวจะทำได้ต่อเมื่อสิ้นการพิจารณา(มาตรา133) ถ้าเป็นเรื่องขาดนัดต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา201 คือศาลสั่งจำหน่ายคดีเว้นแต่จำเลยจะแจ้งต่อศาลว่าตนตั้งใจจะดำเนินคดีต่อไปและศาลได้มีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาแล้ว ทั้งมีการแสดงว่าการพิจารณาได้เสร็จสิ้นแล้วด้วย เมื่อท้องสำนวนไม่ปรากฏว่าศาลได้สั่งให้โจทก์ขาดนัดจำเลยแสดงความจำนงจะดำเนินคดีต่อไปและมีรายงานแสดงว่าการพิจารณาได้เสร็จสิ้นแล้วศาลก็ได้แต่สั่งจำหน่ายคดีจะตัดสินให้ยกฟ้องหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อ พ.ศ. 2495 โจทก์กับขุนนิทเทศสุขกิจแต่งงานกัน แต่มิได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาเกิดบุตรด้วยกัน 1 คน เมื่อ 7 พ.ค. 2498 ขุนนิทเทศสุขกิจถึงแก่กรรม ก่อนถึงแก่กรรมขุนนิทเทศฯ ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่โจทก์ และโดยที่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ระหว่างโจทก์กับขุนนิทเทศฯ เป็นหุ้นส่วนร่วมกันมีส่วนคนละครึ่ง ฉะนั้นทรัพย์ทั้งหมดตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับ 3 จึงเป็นของโจทก์ทั้งหมด ฝ่ายจำเลยเป็นภริยาและผู้จัดการมรดกขุนนิทเทศฯ ตามคำสั่งศาลแพ่ง จำเลยลอบไปรับโฉนดไปจากกระทรวงสาธารณสุข แล้วนำไปให้สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีใส่ชื่อจำเลย ทั้งลอบเอาทรัพย์อันดับ 1, 2, 4, 5 จากกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสียทั้งหมด โจทก์จึงมาฟ้องขอแบ่ง

จำเลยต่อสู้คดี

ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์เป็นฝ่ายสืบก่อน ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลรออยู่จน 10.10 น. ศาลออกนั่งพิจารณาและจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า ฝ่ายโจทก์ไม่มีใครมาศาลเลย คงมีมาแต่ฝ่ายจำเลยและไม่มีเหตุผลสมควรที่จะเลื่อนการพิจารณาไป จึงถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบในวันเดียวกันนั้นศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ว่าที่ศาลยกฟ้องไม่ถูก ที่ถูกควรสั่งจำหน่ายคดีศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ให้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาเป็นให้จำหน่ายคดีของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201(1) ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคดีใหม่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การจะพิพากษาชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 133 ได้ก็ต่อเมื่อสิ้นการพิจารณาตามที่บังคับไว้ตาม มาตรา 133 นี้แล้ว คดีนี้ปรากฏว่าเป็นเรื่องที่ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201(1) บัญญัติเพียงให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสีย จึงไม่มีทางทำสถานอื่นเว้นแต่จำเลยจะได้แจ้งต่อศาลว่าตนตั้งใจดำเนินการพิจารณาต่อไปและศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาแล้วแสดงว่าการพิจารณาได้เสร็จสิ้นแล้วด้วย เมื่อนั้นจึงชี้ขาดคดีได้ เฉพาะเรื่องนี้ท้องสำนวนขาดความสำคัญที่จะต้องทำตามกฎหมายบังคับเช่นนี้ไปแม้โจทก์จะฎีกาว่าเมื่อศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาแล้วไม่มีจังหวะใดเปิดโอกาสให้จำเลยลุกขึ้นแถลง ศาลก็เห็นว่าถ้าจำเลยมีความประสงค์จะขอให้ศาลดำเนินการพิจารณาถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายแล้วอย่างน้อยจำเลยก็มีโอกาสจะทำคำแถลงแสดงความประสงค์ให้ปรากฏไว้ก่อนศาลพิพากษาได้ ฯลฯ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share