แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีหาว่า จำเลยสมคบกับผู้ร้าย จับคนไปเพื่อสินไถ่ แม้โจทก์จะสืบไม่ได้ว่าจำเลยได้สมคบกับพวกผู้ร้ายที่จับคนไปเพื่อสินไถ่ก็ดี แต่การกระทำของจำเลยเป็นการช่วยเหลือในการกระทำผิดเช่นนั้นภายหลังการกระทำผิด จับคนเพื่อสินไถ่ ต้องตามความใน ก.ม.ลักษณะอาญา มาตรา 272 ทวิ ซึ่งได้เพิ่มเติม ก.ม.ลักษณะอาญา พ.ศ. 2477 (ฉะบับที่ 4) มาตรา 5 จำเลยต้องมีความผิดเป็นตัวการดุจกัน
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องเป็น ๒ สำนวน หาว่าจำเลยสมคบกับพวกจับนายหยิบ นายวันไปเรียกค่าไถ่ นายหยิบ,นายวันได้มอบเงินให้แก่จำเลยคนละ ๑๕๐ บาท จำเลยจึงปล่อยตัวมา ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญา มาตรา ๒๖๘,๒๗๐ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ก.ม.ลักษณะอาญา พ.ศ. ๒๔๗๗ (ฉะบับที่ ๔) มาตรา ๓ จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยได้รับเงินจากนายหยิบ,นายวันไปคนละ ๑๕๐ บาท ซึ่งนับว่าเป็นการอุปการะช่วยเหลือภายหลังการกระทำผิดฐานจับคนเพื่อสินไถ่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ก.ม.ลักษณะอาญา พ.ศ. ๒๔๗๗ (ฉะบับที่ ๔) มาตรา ๕ มีความผิดฐานเป็นตัวการดุจกัน พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญา มาตรา ๒๗๐ และแก้ไขมาตรา ๓ ให้จำคุก ๑๕ ปี ลดโทษ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๖ ที่แก้ไขมาตรา ๒๗๒ ตรี คงจำคุก ๑๐ ปี นับโทษต่อคดีดำที่ ๒๘๖/๒๔๘๙
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะสืบไม่ได้ความว่า จำเลยได้สมคบกับผู้ร้ายที่จับนายหยิบ นายวัน เพื่อสินไถ่ก็ดี แต่การกระทำของจำเลยเป็นการช่วยเหลือในการกระทำผิดเช่นนั้นภายหลังการกระทำผิด ฐานจับคนเพื่อสินไถ่ต้องตามความในกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๗๒ ทวิ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติม ก.ม.ลักษณะอาญา พ.ศ. ๒๔๗๗ (ฉะบับที่ ๔) มาตรา ๕ จำเลยต้องมีผิดเป็นตัวการดุจกัน.
พิพากษายืน.