คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1688/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการอายัดเงินชั่วคราวก่อนพิพากษา. ศาลชั้นต้นได้ส่งหมายอายัดถึงจำเลยและลูกหนี้ของจำเลย ห้ามไม่ให้ลูกหนี้ของจำเลยชำระเงินแก่จำเลย. และลูกหนี้ของจำเลยก็ได้ทราบคำสั่งอายัดของศาลแล้ว. แม้ลูกหนี้ของจำเลยจะมิได้แจ้งมายังศาลว่าอายัดได้หรือไม่มีเงินของจำเลยอยู่จริงหรือไม่ และทั้งไม่ได้ส่งเงินที่อายัดมายังศาลตามหมายอายัดก็ตาม. ก็ต้องถือว่าได้มีการอายัดไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว. เพราะไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ของจำเลยหรือจำเลยได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งอายัดชั่วคราวของศาลแต่ประการใด. ฉะนั้นเมื่อศาลมีคำสั่งให้ถอนการอายัดดังกล่าว โจทก์จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมถอนการอายัดตามตาราง 5(4) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขออายัดทรัพย์ชั่วคราวของจำเลยซึ่งมีอยู่ที่กรมทางหลวงแผ่นดิน และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้อายัด โดยมีคำสั่งห้ามมิให้กรมทางหลวงแผ่นดินจ่ายเงิน 80,000 บาทแก่จำเลยและห้ามมิให้จำเลยจำหน่ายสิทธิเรียกร้อง ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงได้มีคำสั่งให้ถอนการอายัดชั่วคราวนี้ และให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมถอนการอายัดภายใน 7 วัน มิฉะนั้นให้เบิกจ่ายเงินจากเงินที่โจทก์วางประกันความเสียหายไว้ โจทก์อุทธรณ์ว่า เรื่องนี้มิได้มีการอายัดเงินกันไว้จริงตามหมายอายัด โจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมถอนการอายัด ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การอายัดชั่วคราวสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมถอนการอายัดร้อยละหนึ่งของเงิน 80,000 บาท พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า การอายัดชั่วคราวรายนี้ ศาลชั้นต้นได้ส่งหมายอายัดถึงจำเลยและลูกหนี้ของจำเลย คือ กรมทางหลวงแผ่นดิน ห้ามไม่ให้กรมทางหลวงแผ่นดินชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินให้แก่จำเลยและกรมทางหลวงแผ่นดินได้ทราบคำสั่งอายัดของศาลดังกล่าวนั้นแล้วฉะนั้น แม้กรมทางหลวงแผ่นดินจะมิได้แจ้งมายังศาลว่าอายัดได้หรือไม่มีเงินของบริษัทจำเลยอยู่จริงหรือไม่ และทั้งไม่ได้ส่งเงินที่อายัดมายังศาลตามหมายอายัด ก็ต้องถือว่าเรื่องนี้ได้มีการอายัดไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะไม่ปรากฏตามสำนวนว่ากรมทางหลวงแผ่นดินก็ดีหรือจำเลยก็ดีโต้แย้งคัดค้านคำสั่งอายัดชั่วคราวของศาล แต่ประการใดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมถอนการอายัดร้อยละหนึ่งของเงิน 80,000 บาท ตามตงราง 5(4) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2499 มาตรา 33จึงเป็นการชอบแล้ว พิพากษายืน.

Share