คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1681-1683/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาที่จำเลยที่ ตกลงให้โจทก์ที่ 3 ดำเนินการเกี่ยวกับการดัดแปลงอพาร์ตเม้นต์เป็นโรงแรม จัดหาบุคลากรที่เหมาะสมมาทำงานที่โรงแรม และวางแผนการตลาดให้โรงแรมมีกำไร เป็นการทำการอย่างใดอย่างหนึ่งจนสำเร็จ โดยจำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายเงินค่าตอบแทนในผลสำเร็จของงานที่ทำเดือนละ 140,000 บาท แม้โจทก์ที่ 3 ได้เข้าทำงานทุกวันคือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ตั้งแต่เวลา 8.30 ถึง 17.00 นาฬิกาก็มิใช่เป็นการทำงานตามที่จำเลยที่ 1 กำหนด แต่เป็นการเข้าไปทำงานยังสถานที่ที่จำเลยที่ 1 จัดหาไว้ตามสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษา และไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 3 ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่สัญญาจ้างแรงงานแต่เป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างผู้จ่ายค่าจ้างอันเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎษกร มาตรา 40 (1) ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้าง จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ทุกครั้งตามจำนวนที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์ของมาตรา 50 (1) แล้วนำส่งกรมสรรพากรภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงินตามมาตรา 52 หากนายจ้างมิได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ หรือหักไม่ครบ หรือไม่นำส่งในจำนวนที่ถูกต้อง นายจ้างต้องรับผิดจ่ายเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย พร้อมดอกเบี้ยปรับและเงินเพิ่มร่วมกับลูกจ้างผู้มีเงินได้เมื่อจำเลยที่ 1 ได้จ่ายภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายย้อนหลังตามจำนวนที่ต้องจ่ายสำหรับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ให้แก่กรมสรรพากรไปแล้วจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่จ้ายแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไปคืนจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ และสามารถหักจากค่าจ้างของลูกจ้างเพื่อชำระค่าภาษีเงินได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 (1)

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์ทั้งสามเคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 ได้เข้าทำงานเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2545 ในตำแหน่งผู้จัดการจัดซื้อได้รับค่าจ้างสุทธิหลังจากหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วในอัตราเดือนละ 25,000 บาท โจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชี ได้รับค่าจ้างสุทธิหลังจากหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วในอัตราเดือนละ 45,000 บาท โจทก์ที่ 3 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2544 ในตำแหน่งที่ปรึกษางานเกี่ยวกับการบริหารโรงแรม ได้รับค่าจ้างสุทธิหลังจากหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วในอัตราเดือนละ 140,000 บาท จำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 5 ของเดือน โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ยื่นใบลาออก จำเลยที่ 2 ได้อนุมัติให้ลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2545 เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2545 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ไปขอรับเงินค่าจ้างเดือนสิงหาคม 2545 แต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งห้ามไม่ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เข้าที่ทำการและไม่จ่ายค่าจ้างเดือนสิงหาคม 2545 ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ส่วนโจทก์ที่ 3 ได้ยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2545 โดยระบุให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2545 จำเลยได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ที่ 3 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2545 โดยที่โจทก์ที่ 3 ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ได้จ่ายค่าจ้างเดือนสิงหาคม 2545 ให้ โจทก์ที่ 3 ทำงานกับจำเลยครบ 120 วัน จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเลยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 25,000 บาท และ 45,000 บาท ตามลำดับ และให้จ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีทุก ๆ 7 วันจากต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 140,000 บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีทุก ๆ 7 วัน นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชยจำนวน 140,000 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งโจทก์ที่ 3 ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เคยเป็นลูกจ้างของจำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราตามฟ้องแต่ละสำนวนจริง แต่ไม่ใช่เงินค่าจ้างหรือเงินเดือนสุทธิหลังจากหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้าง เพราะจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีข้อตกลงกับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เช่นนั้น คำว่าเงินเดือนสุทธิไม่ได้หมายความว่าเป็นเงินเดือนที่รวมภาษีเงินได้ที่นายจ้างออกให้ลูกจ้างตามกฎหมาย โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ประเภทเงินเดือนหรือค่าจ้างต้องเป็นผู้เสียภาษีเงินได้ให้แก่รัฐตามอัตราที่กฎหมายกำหนดตามประมวลรัษฎากร นับแต่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เข้าทำงาน จำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าจ้างให้โดยไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เนื่องจากโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินไม่ได้แนะนำและไม่ได้จัดการเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายของค่าจ้างพนักงานไว้ ส่วนค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2545 นั้น เมื่อได้ทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย เงินเพิ่มและเบี้ยปรับที่จำเลยที่ 1 จะต้องนำส่งให้แก่รัฐบาลแล้ว ก็มีจำนวนพอดีกัน หรือถึงแม้จะเหลือก็ไม่ใช่จำนวนตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ที่ 3 สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ที่ 3 และจำเลยทั้งสองไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานแต่เป็นสัญญาที่ปรึกษา โจทก์ที่ 3 มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนอพาร์ตเม้นต์เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว แนะนำผู้เชี่ยวชาญด้านห้องครัว ด้านคอมพิวเตอร์ และประสานกับสถาปนิกหรือผู้ออกแบบภายในเท่านั้น การทำงานของโจทก์ที่ 3 ไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยทั้งสองสัญญามีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน โดยโจทก์ที่ 3 ได้รับรองในสัญญาว่าจะขอใบอนุญาตประกอบการโรงแรมให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งถือว่าข้อสัญญาดังกล่าวเป็นข้อสำคัญโจทก์ที่ 3 ไม่สามารถดำเนินการได้ถือว่าโจทก์ที่ 3 ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 สามารถบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ที่ 3 ได้โดยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งเมื่อสัญญาได้สิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2544 โจทก์ที่ 3 ไม่สามารถดำเนินการขอใบอนุญาตเปิดโรงแรมให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ตามสัญญา จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ที่ 3 ทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรและด้วยวาจา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ้ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 3 ตามฟ้อง และเมื่อโจทก์ที่ 3 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า รวมทั้งไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามฟ้อง ในการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ที่ 3 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เนื่องจากโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีไม่ได้ให้คำแนะนำแก่จำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงได้นำค่าตอบแทนตามสัญญางวดสุดท้ายมาหักภาษี ณ ที่จ่ายของโจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินจำนวนใดจากจำเลยที่ 1 อีก การที่โจทก์ที่ 3 ผิดสัญญาไม่สามารถขอใบอนุญาตเปิดโรงแรมให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถเปิดโรงแรมได้ตามกำหนด ทำให้ขาดโอกาสทางธุรกิจ คิอเป็นค่าเสียหายเฉลี่ยวันละ 100,000 บาท คิดตั้งแต่วันพ้นกำหนด 6 เดือน ที่โจทก์ที่ 3 สัญญาว่าจะจัดหาใบอนุญาตเปิดโรงแรมให้จนถึงปัจจุบัน จ้างจำเลยที่ 2 เป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาว่าจ้างหรือทำการอันใดแสดงว่าเป็นนายจ้างของโจทก์ที่ 3 ไม่เคยจ่ายค่าตอบแทนในฐานะส่วนตัวให้แก่โจทก์ที่ 3 การที่โจทก์ที่ 3 ทราบดีอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้าง แต่ยังคงฟ้องร้องต่อศาล ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง และเสื่อมเสียชื่อเสียง จำเลยที่ 2 ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้จำนวน 500,000 บาท และทำให้จำเลยที่ 2 ต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าทนายความ และใช้จ่ายในการดำเนินคดีซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องจ่ายไปจำนวน 20,000 บาท โจทก์ที่ 3 จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามและขอให้บังคับโจทก์ที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยทั้งสองตามฟ้องแย้ง
โจทก์ที่ 3 ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สัญญาว่าจ้างเป็นที่ปรึกษาฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2545 ที่จำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์ที่ 3 นั้น ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจลงนามกระทำการในนามจำเลยที่ 1 เพียงลำพังได้ ต้องลงนามร่วมกับกรรมการอื่นอีก 1 คน และประทับตราสำคัญของบริษัทจึงสามารถทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะนำเงื่อนไขสัญญาฉบับดังกล่าวมาฟ้องร้องให้โจทก์ที่ 3 รับผิดมิได้ โจทก์ที่ 3 ไม่เคยตกลงจะขอใบอนุญาตโรงแรมให้ได้ภายใน 6 เดือน จำเลยที่ 2 ได้จัดทำสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาและกำหนดเงื่อนไขขึ้นมาเอง เพียงเพื่อนำไปแสดงให้ผู้ถือหุ้นต่างประเทศนำเงินมาลงทุนในโครงการเท่านั้น จำเลยที่ 1 มีความประสงค์จะเปิดใช้อาคารตามวัตถุประสงค์ใบอนุญาตก่อสร้างเดิมก่อน คือ บริการให้เช่าห้องพักอาศัยรายวันและรายเดือน แล้วจึงค่อยดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบการโรงแรมภายหลัง จำเลยที่ 2 จึงให้โจทก์ที่ 3 ดำเนินการขอใบอนุญาตให้ใช้อาคารและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่การเปิดใช้อาคารจำเป็นต้องขออนุญาตหรือใบรับรองการใช้อาคารจากกองควบคุมอาคารกรุงเทพมหานครก่อน โจทก์ที่ 3 จึงตกลงจะจัดหาใบอนุญาตใช้อาคารให้จำเลยที่ 1 ภายใน 6 เดือน ภายหลังจากอาคารแล้วเสร็จสมบูรณ์ โจทก์ที่ 3 ได้แนะนำวิศวกรและเจ้าหน้าที่กองควบคุมอาคาร กรุงทพหมานคร มาตรวจสอบอาคารของจำเลยที่ 1 หลายครั้งตั้งแต่เดือนมีนาคม 2545 ซึ่งเจ้าหน้าที่และวิศวกรได้ตรวจและแนะนำให้แก้ไขเพิ่มเติมอาคารหลายครั้ง แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างไม่ดำเนินการแต่อย่างใด และดำเนินการก่อสร้างเป็นไปอย่างล้าช้ามาก กระทั่งเดือนสิงหาคม 2545 อาคารของจำเลยที่ 1 มีสภาพแล้วเสร็จไม่ถึงร้อยละ 60 ของงานก่อสร้างทั้งหมด ทางราชการจึงไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ใช้อาคารให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ โจทก์ที่ 3 จึงไม่ได้เป็นผู้ผิดสัญญา ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของจำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหารกิจการของจำเลยที่ 1 โดยมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำทั้งในฐานะนิติบุคคลจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัว โจทก์ที่ 3 จึงมีสิทธิโดยชอบที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 25,000 บาท และ 45,000 บาท ตามลำดับคำขอนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 และยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
โจทก์ที่ 3 และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.1 จำเลยที่ 1 มีความประสงค์จะใช้อาคารขนาด 17 ชั้น เลขที่ 375 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว วันที่ 3 พฤศจิกายน 2544 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ที่ 3 เป็นที่ปรึกษาโรงแรมตามสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาโรงแรมเอกสารหมาย จ.7 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 สัญญามีกำหนดระยะเวลา 7 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2544 ถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2545 ตกลงค่าจ้างในอัตรา 140,000 บาท ต่อเดือนตามสัญญาข้อ (ฎ) ได้กำหนดว่าหลังจาก 6 เดือนนับจากวันเริ่มทำงานผ่านไปแล้ว หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาอีกฝ่ายสามารถบอกเลิกสัญญาได้โดยส่งจดหมายแสดงความจำนงให้ทราบล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 1 เดือน และตามสัญญาข้อ o (ฒ) ได้กำหนดว่า ที่ปรึกษารับประกันว่าจะหาใบอนุญาตดำเนินการเปิดโรงแรมให้ได้ภายใน 6 เดือน จำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารและตกแต่งภายในได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเอเชียแล็ป จำกัด มาทำงานศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอาคารที่พักอาศัยของจำเลยที่ 1 ที่จะเปิดเป็นโรงแรมเป็นค่าจ้าง 350,000 บาท ตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย ล.9 ภายหลังจากจำเลยที่ 2 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ที่ 3 เป็นที่ปรึกษาโรงแรมจนถึงวันที่จำเลยทั้งสองเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 3 อาคารของจำเลยที่ 1 ยังปรับปรุงและตกแต่งภายในไม่แล้วเสร็จ ส่วนโจทก์ที่ 3 ก็ยังไม่สามารถดำเนิการขอใบอนุญาตเปิดกิจการโรงแรมให้แก่จำเลยที่ 1 วันที่ 23 สิงหาคม 2545 โจทก์ที่ 3 ได้ยื่นหนังสือลาออกจากงานโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2545 แต่วันที่ 31 สิงหาคม 2545 ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาที่ปรึกษาโรงแรมแก่โจทก์ที่ 3 โดยให้โจทก์ที่ 3 ไปรับเงินค่าตอบแทนภายในวันที่ 2 กันยายน 2545 ตามเอกสารหมาย จ.8 โจทก์ที่ 3 เคยเป็นที่ปรึกษาผู้จัดการทั่วไปโรงแรมหลายแห่ง ตามประวัติคุณวุฒิและประสบการณ์เอกสารหมาย จ.15 โจทก์ที่ 3 เป็นผู้แนะนำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มาสมัครงานกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้สัมภาษณ์และตกลงรับโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2545 ตำแหน่งผู้จัดการจัดซื้อ อัตราค่าจ้างเดือนละ 25,000 บาท และตกลงรับโจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชี อัตราค่าจ้างเดือนละ 45,000 บาท ไม่มีสัญญาจ้างงานเป็นลายลักษณ์อักษร จำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เต็มจำนวนโดยไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตั้งแต่เริ่มแรกที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เข้าทำงานจนถึงวันที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ออกจากงาน วันที่ 1 สิงหาคม 2545 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ยื่นใบลาออกโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2545 เป็นต้นไป จำเลยที่ 1 ยังคงค้างจ่ายค่าจ้างเดือนสิงหาคม 2545 แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ส่วนโจทก์ที่ 3 จำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าจ้างให้เต็มจำนวนโดยไม่ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ก็ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานอื่นทุกคนโดยไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เช่นกัน ภายหลังจากที่โจทก์ทั้งสามออกจากงานจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างบริษัทเค.เอ็น.โอ แอคเคาน์ พลัส จำกัด มาเป็นผู้จัดทำบัญชีให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 นับแต่เดือนกันยายน 2545 บริษัทดังกล่าวได้ทำการตรวจสอบบัญชีของจำเลยที่ 1 ย้อนหลังไปนับแต่จำเลยที่ 1 เริ่มก่อตั้งบริษัท พบว่าระบบทางบัญชีของจำเลยที่ 1 ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายเงินเดือนของพนักงานทุกคน รวมทั้งไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายแรงงานของผู้รับเหมาทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งไม่ถูกต้อง บริษัทดังกล่าวจึงได้จัดทำบัญชีใหม่โดยได้ทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายทั้งหมดย้อนหลังตามใบสรุป ภ.ง.ด.1 และใบสรุป ภ.ง.ด.3 เอกสารหมาย ล.5 ล.6 และ ล.7 และจำเลยที่ 1 ได้เงินภาษีดังกล่าวให้แก่กรมสรรพากรไปทั้งหมดแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 3 ว่าสัญญาจ้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 เป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ พิจารณาสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาโรงแรมเอกสารหมาย จ.7 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 แล้ว ได้ความโดยสรุปคือ จำเลยที่ 1 ประสงค์จะดัดแปลงตึกอพาร์ตเม้นต์ของจำเลยที่ 1 เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาวจึงตกลงว่าจ้างโจทก์ที่ 3 มีกำหนด 7 เดือน ค่าที่ปรึกษาเดือนละ 140,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 1,4000,000 บาท โดยจ่ายเป็นเงินมัดจำไว้ร้อยละ 30 เป็นเงิน 420,000 บาท ซึ่งโจทก์ที่ 3 จะให้คำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ ที่ดัดแปลงตึกอพาร์ตเม้นต์เป็นโรงแรม เช่น ด้านอาคารสถานที่ โดยประสานงานกับสถาปนิกมัณฑนากรและภูมิสถาปนิกที่ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 จัดทำแผนการตลาดให้โรงแรมที่เปิดทำการได้กำไรในเวลาอันรวดเร็ว จัดหาบุคลากรที่เหมาะสมมาทำงานให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จะจัดหาสถานที่ทำงานที่เหมาะสมพร้อมทั้งอุปกรณ์การสื่อสารภายในโรงแรมที่จะเปิดทำการให้แก่โจทก์ที่ 3 โดยไม่เก็บค่าเช่า เห็นว่า สัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาตามเอกสารหมาย ล.7 ดังกล่าวเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ที่ 3 ดำเนินการเกี่ยวกับการดัดแปลงอพาร์ตเม้นต์เป็นโรงแรม จัดหาบุคลากรที่เหมาะสมมาทำงานที่โรงแรมและวางแผนการตลาดให้โรงแรมมีกำไร เป็นการทำการอย่างใดอย่างหนึ่งจนสำเร็จ แล้วจำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายเงินค่าตอบแทนในผลสำเร็จของงานที่ทำเดือนละ 140,000 บาท อีกทั้งศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าแม้โจทก์ที่ 3 ได้เข้าทำงานทุกวันคือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ตั้งแต่เวลา 8.30 ถึง 17.00 นาฬิกา ก็มิใช่เป็นการทำงานตามที่จำเลยที่ 1 กำหนด แต่เป็นการเข้าไปทำงานยังสถานที่ที่จำเลย 1 จัดหาไว้ตามสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษา เอกสารหมาย จ.7 และไม่ปรากฎว่าโจทก์ที่ 3 ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังนี้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาโรงแรมตามเอกสารหมาย จ.7 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 มิใช่สัญญาจ้างแรงงานแต่เป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธินำเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มาหักกลบลบหนี้กับเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่กรมสรรพากรแทนโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันว่าจ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ด้วยวาจาให้โจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2545 ตำแหน่งผู้จัดการจัดซื้อ อัตราค่าจ้างเดือนละ 25,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชี อัตราค่าจ้างเดือนละ 45,000 บาท จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เต็มจำนวนโดยไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตั้งแต่เข้าทำงานจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2545 ซึ่งโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ลาออกจากงานและจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนสิงหาคม 2545 ให่แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เห็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างผู้จ่ายค่าจ้างอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่เป็นลูกจ้าง จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ทุกครั้งตามจำนวนที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์ของมาตรา 50 (1) แล้วนำส่งกรมสรรพากรภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงินตามมาตรา 52 หากนายจ้างมิได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ หรือหักไม่ครบ หรือไม่นำส่งในจำนวนที่ถูกต้อง นายจ้างต้องรับผิดจ่ายเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย พร้อมด้วยเบี้ยปรับและเงินเพิ่มร่วมกับลูกจ้างผู้มีเงินได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้จ่ายภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายย้อนหลังตามจำนวนที่ต้องจ่ายสำหรับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ให้แก่กรมสรรพากรไปแล้วตามใบสรุป ภ.ง.ด.1 และใบสรุป ภ.ง.ด.3 เอกสารหมาย ล.5 ล.7 ล.8 และ ล.9 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่จ่ายแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไปคืนจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ และสามารถหักค่าจ้างของลูกจ้างเพื่อชำระค่าภาษีเงินได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 (1) จำเลยที่ 1 ได้จ่ายภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายย้อนหลังที่โจทก์ที่ 1 ต้องจ่ายให้แก่กรมสรรพากรไปจำนวน 2,375 บาท ตามสำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเอกสารหมาย ล.8 สำหรับโจทก์ที่ 2 จำนวน 15,000 บาท ตามสำเนาหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย เอกสารหมาย ล.9 เมื่อนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 2,375 บาท หักออกจากค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 ค้างจ่ายโจทก์ที่ 1 จำนวน 25,000 บาท คงเหลือต้องจ่ายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 22,625 บาท และเมื่อนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 15,000 บาท หักออกจากค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 ค้างจ่ายโจทก์ที่ 2 จำนวน 45,000 บาท คงเหลือต้องจ่ายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 30,000 บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เต็มจำนวนโดยไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายที่จำเลยที่ 1 จ่ายแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ให้แก่กรมสรรพากรนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยที่ ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 22,625 บาท ให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share