คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 168/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เวลากระทำผิดเป็นข้อสำคัญที่โจทก์ต้องกล่าวในฟ้อง และเป็นข้อเท็จจริงในเรื่องความผิดที่จำเลยกระทำเมื่อศาลพิพากษายกฟ้องคดีก่อนเพราะฟ้องโจทก์ไม่ระบุเวลากระทำผิด จึงได้ชื่อว่าได้ยกฟ้องในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยอีก (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่1576/2495)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 268, 83

ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์แถลงรับว่าโจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาเดียวกันนี้และศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 7493/2517 ของศาลอาญาจริง ศาลสั่งงดไต่สวนมูลฟ้อง และวินิจฉัยว่า โจทก์จะมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) คดีโจทก์จึงไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์รับว่าเคยฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกันนี้ครั้งหนึ่งแล้ว ศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีนั้น เพราะฟ้องโจทก์ขาดวันเดือนปีและเวลาที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิด คดีถึงที่สุดแล้วเช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ระบุเวลากระทำผิดดังบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) จึงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เวลากระทำผิดเป็นข้อสำคัญที่โจทก์จะต้องกล่าวมาในฟ้อง และเวลากระทำผิดเช่นว่านี้ ก็เป็นข้อเท็จจริงในเรื่องความผิดที่จำเลยกระทำนั่นเอง จึงได้ชื่อว่าได้ยกฟ้องในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 1576/2495

พิพากษายืน

Share