คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 168/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่ภริยาจำเลยร้องขัดทรัพย์แล้วทำยอมความในศาลกับโจทก์ให้ขายทรัพย์ที่ยึดเอาเงินครึ่งหนึ่งให้ผู้ร้องรับไป อีกครึ่งหนึ่งชำระหนี้โจทก์ เหลือก็คืนจำเลยนั้น หากปรากฏว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง ยินยอมให้ขายชำระหนี้โจทก์ได้แล้ว ก็ไม่มีปัญหาเรื่องจำเลยและผุ้ร้องจะมีสิทธิในทรัพย์ที่ยึดอย่งไร คงมีปัญหาอยู่ที่ว่า ฝ่ายใดจะมีสิทธิรับทรัพย์ส่วนของผู้ร้องตามยอมคืนไปเท่าใด และฝ่ายใดจะเป็นผู้ดำเนินคดีแก่ฝ่ายใดเท่านั้น จำเลยจะร้องอ้างว่าไม่ได้อนุญาตให้ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์และทำยอมจึงขอบอกล้างเสียนั้นย่อมไม่ได้ เพราะไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับกรณีร้องขัดทรัพย์นี้ ชอบที่จำเลยและผู้ร้องจะไปว่ากล่าวเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก

ย่อยาว

คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ภายใน ๗ วัน ครั้นครบกำหนดจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้ยึดเรือนจำเลยขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ว่าเรือนที่ยึดเป็นของผู้ร้องขอให้ปล่อย
โจทก์ให้การว่า จำเลยกับผู้ร้องเป็นสามีภริยากัน จำเลยกู้เงินโจทก์ไปปลูกเรือนพิพาท จึงเป็นทรัพย์ที่โจทก์มีสิทธิยึดได้ ผู้ร้องเป็นหญิงมีสามีดำเนินคดีมิได้รับอนุญาตจากสามีไม่ได้
เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ได้ ๒ ปาก แล้วโจทก์กับผู้ร้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ขายเรือนพิพาทไปได้ ได้เงินเท่าไรแบ่งให้ผู้ร้องรับไปครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งชำระหนี้โจทก์ ถ้าเหลือคืนจำเลย ถ้าไม่เหลือเป็นบาปเคราะห์ของโจทก์
จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยไม่ได้ให้ความยินยอมอนุญาตให้ผู้ร้องขัดทรัพย์มาร้องและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ระหว่างนี้จำเลยกับผู้ร้องยังเป็นสามีภริยากัน จึงไม่มีสิทธิจะมาแบ่งทรัพย์ระหว่างผัวเมีย จำเลยขอบอกล้างสัญญาประนีประนอม และขอให้ศาลขายทอดตลาดไป ได้เงินเท่าไรเอาชำระหนี้โจทก์ ถ้าเหลือขอได้มอบแก่จำเลย
ผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำแถลงว่าทรัพย์พิพาทเกิดขึ้นระหว่างผัวเมีย การที่จำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้ร้อง และขัดกับคำพิพากษา ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยและผุ้ร้องขัดทรัพย์แถลงว่าเป็นสามีภริยากัน ผู้ร้องมาร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้โดยลำพัง มิได้รับความยินยอมจากจำเลย
โจทก์และผู้ร้องแถลงว่า ได้ทราบการบอกล้างสัญญาประนีประนอมระหว่างผู้ร้องกับโจทก์แล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า การที่จำเลยมาร้องขอให้ขายทอดตลาดเรือนพิพาทนั้น ย่อมทำได้ไม่ขัดข้องกับการยอมความระหว่างผู้ร้องและโจทก์ เพราะไม่มีข้อโต้เถียงกันสำหรับทรัพย์จำนวนครึ่งหนึ่งที่เป็นส่วนของจำเลยตามยอม จึงมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอของจำเลย คือให้ขายเรือนพิพาทไปได้ เฉพาะครึ่งหนึ่งของจำเลยให้ชำระหนี้โจทก์ เหลือเท่าใดคืนจำเลย ถ้าไม่เหลือก็เป็นบาปเคราะห์แก่โจกท์ แต่อีกครึ่งหนึ่งส่วนตามยอมที่ผู้ร้องขอรับไปนั้น ให้งดจ่ายให้ผู้ร้องไว้ก่อนจนกว่าผู้ร้องกับจำเลยจะตกลงกันถึงที่สุดว่าใครจะรับอย่งไร เพราะเป็นสินสมรส
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาข้อ ๒ แล้วเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์เพราะจำเลยมิได้เป็นคู่สัญญาประนีประนอมนั้น จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ เพราะจำเลยมีส่วนได้เสียในการร้องขัดทรัพย์นั้นด้วย
ส่วนฎีกาจำเลยข้อ ๑ ว่าสัญญาประนีประนอมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘ และฎีกาข้อ ๓ เรื่องจำเลยมีสิทธิจัดการสินสมรสในฐานะสามีชอบที่จะให้ผู้ร้องดำเนินคดีกับจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในชั้นนี้เป็นกรณีพิพาทในเรื่องร้องขัดทรัพย์ ซึ่งมีปัญหาจะต้องพิจารณาว่าทรัพย์ที่ยึดจะใช่ของจำเลยหรือไม่ ซึ่งในข้อนี้ทั้งจำเลยและผู้ร้องขัดทรัพย์แถลงรัยยอมให้ขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้โจทก์ได้ คงมีข้อโต้แย้งกันเฉพาะว่าทรัพย์ที่เหลือจากนั้นจะคืนแก่จำเลยหรือผู้ร้องขัดทรัพย์ ที่จำเลยฎีกาว่าการร้องขัดทรัพย์ไม่เกิดขึ้นเพราะผู้ร้องมาร้องขัดทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลย และจำเลยได้บอกล้างแล้วนั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อโต้แย้งดังกล่าวฟังไม่ขึ้น เพราะในปัญหาที่ว่าจำเลยและผู้ร้องขัดทรัพย์มีสิทธิในเรือนรายพิพาทอย่างไรนั้น จำเลยและผู้ร้องแถลงรับกันว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง คงมีปัญหาโต้เถียงกันเพียงว่า ฝ่ายใดจะมีสิทธิรับทรัพย์นั้นคืนไปเท่าใด และฝ่ายใดจะเป็นผู้ดำเนินคดีแก่ฝ่ายใด ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับกรณีร้องขัดทรัพย์รายนี้
ชอบที่จำเลยและผุ้ร้องจะไปว่ากล่าวอีกส่วนหนึ่งต่างหากดังที่ศาลทั้งสองวินิจฉัยมา
พิพากษายืน

Share