แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทุ่งศรีเมืองอันเป็นที่สาธารณซึ่งตามปกติมีประชาชนมาเที่ยวเตร่พักผ่อนและมีร้านขายอาหาร จำเลยถือโอกาสนั้นกล่าวคำปราศรัยให้ประชาชนฟังเพื่อหาคะแนนนิยมส่วนตัว โดยไม่มีการนัดหมายร่วมใจกันอย่างไร นั้น ไม่เป็นการชุมนุมมั่วสุมอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2495 มาตรา 8 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ออกตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 5/2504)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกับพวกอีกประมาณ ๓๐๐ คน ร่วมชุมนุมมั่วสุม ณ ทุ่งศรีเมือง โดยมิใช่ปกติธุระและไม่ได้รับอนุญาตฝ่าฝืนประกาศออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๔๙๕ และจำเลยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่รับอนุญาตด้วย ขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาคดีนี้กับคดีที่นายกลิ่น ปลั่งนิล ถูกฟ้องอีกคดีหนึ่งว่าสมคบกับจำเลยคดีนี้ทำผิดร่วมกัน แล้วฟังว่าจำเลยทั้ง ๓ นี้กับนายกลิ่น ปลั่งนิล ได้ขึ้นพูดบนเวทีทุ่งศรีเมืองทีละคนโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยใช้เครื่องกระจายเสียง มีประชาชนฟังประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน แต่เห็นว่าคนเหล่านั้นไม่ได้สมคบกัน เพราะทุ่งศรีเมืองเป็นที่สาธารณที่ประชาชนมาเที่ยวเตร่ เครื่องกระจายเสียงก็ไม่ได้ความว่าใช้กำลังไฟฟ้า จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่จำต้องสมคบกันมาร่วมชุมนุม แม้ต่างคนต่างมาฟังคำปราศรัยของจำเลย ก็เป็นการชุมนุมหรือมั่วสุม พิพากษาแก้ให้ปรับจำเลยคนละ ๑๐๐ บาท ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๔๙๕ มาตรา ๘,๑๖
ร.ต.ต.ธำรง จำเลยผู้เดียวฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีได้ความแต่เพียงว่า จำเลยได้พูดกระจายเสียงให้ประชาชน ๓๐๐-๔๐๐ คนฟังที่ทุ่งศรีเมืองอันเป็นที่สาธารณซึ่งตามปกติประชาชนไปเที่ยวเตร่พักผ่อน มีร้านขายอาหารรอบ ๆ ทุ่ง เห็นได้ว่า การที่ประชาชนมาฟังจำเลยพูดมิใช่ด้วยการนัดหมายร่วมใจกันอย่างใด จำเลยถือโอกาสที่คนมาเที่ยวแล้วกล่าวคำปราศรัยเพื่อหาคะแนนนิยมส่วนตัว จะฟังว่าคนเหล่านั้นเจตนามาร่วมชุมนุมมั่วสุมกับจำเลยเพราะการนัดหมายของจำเลยไม่ได้ ศาลฎีกาประชุมใหญ่มีมติว่า พฤติการณ์เช่นนี้ ไม่เป็นการชุมนุมมั่วสุมอันเป็นความผิดดังฟ้อง และความข้อนี้เป็นเหตุในลักษณะคดี จึงให้มีผลถึงจำเลยทุกคนทั้ง ๒ คดีที่รวมพิจารณาพิพากษามา
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้ง ๒ คดี