แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ทั้งสองขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับหมายเลขทะเบียนรถยนต์คันที่โจทก์ที่ 1 ขับ โดยขอแก้หมายเลขทะเบียนเฉพาะเลขตัวท้ายตัวเดียว โดยให้เหตุผลว่าพิมพ์เลขผิดพลาดจึงขอแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริงโดยยังเป็นรถยนต์คันเดิมอยู่ดังนี้ เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเกี่ยวกับรายละเอียดเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ตรงตามความจริง และยังเป็นการขอแก้ไขก่อนวันสืบพยาน ไม่เป็นเหตุให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขคำฟ้องส่วนนี้ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ดำเนินคดีแทน โจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 9 ข – 7957 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีโจทก์ที่ 2 นั่งมาด้วย ถูกจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 93-1873 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทแล่นสวนทางมาแล้วแซงรถยนต์คันอื่นที่อยู่ข้างหน้าล้ำเข้ามาในช่องเดินรถของโจทก์ที่ 1 และชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน147,000 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน 345,024 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 511,637.55 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 492,024 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุม จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถยนต์บรรทุกเฉี่ยวชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ข – 7957 กรุงเทพมหานคร โจทก์ทั้งสองและฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้มีการประนีประนอมยอมความกันแล้ว ทำให้มูลคดีละเมิดระงับไป ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งศาลชั้นต้นนัดในวันที่ 3 มีนาคม 2543 โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 ขอแก้ไขคำฟ้อง โดยขอเปลี่ยนหมายเลขทะเบียนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 คันเกิดเหตุจาก 9 ข – 7957 กรุงเทพมหานคร เป็น 9 ข – 7959กรุงเทพมหานคร อ้างว่าพิมพ์ผิดพลาดไป เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 คัดค้านอ้างว่าทำให้จำเลยที่ 2 เสียเปรียบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขคำฟ้องได้ตามที่ขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขคำฟ้องชอบหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องภายหลังจากจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การแล้วประมาณ 6 เดือน เป็นการแก้ไขคำฟ้องที่ทำให้จำเลยที่ 2 เสียเปรียบและหลงต่อสู้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจร้องขอแก้ไขคำฟ้องได้ เห็นว่า ระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 บัญญัติว่า “การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้วให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย” จากบทบัญญัติดังกล่าว หากเป็นกรณีขอแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยแล้วโจทก์ทั้งสองอาจขอแก้ไขคำฟ้องในเวลาใด ๆ ก็ได้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 2 ได้ความว่าเหตุละเมิดเกิดจากรถยนต์เก๋งที่โจทก์ที่ 1 ขับแล่นสวนทางกับรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ที่จำเลยที่ 1 ขับและเกิดเฉี่ยวชนกันขึ้น การที่โจทก์ทั้งสองแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับหมายเลขทะเบียนรถยนต์คันที่โจทก์ที่ 1 ขับ โดยขอแก้หมายเลขทะเบียนรถเฉพาะเลขตัวท้ายตัวเดียว จากเลข 7 เป็นเลข 9 ซึ่งโจทก์ทั้งสองให้เหตุผลว่าพิมพ์เลขผิดพลาดจึงขอแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยรถยนต์คันที่โจทก์ที่ 1 ขับไปเกิดเหตุก็ยังเป็นรถยนต์คันเดิมอยู่ เห็นว่าแม้ศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขหมายเลขทะเบียนดังที่โจทก์ทั้งสองขอก็ไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นคันอื่นไปได้ ดังนั้น ที่โจทก์ทั้งสองขอแก้ไขหมายเลขทะเบียนเฉพาะเลขตัวท้ายตัวเดียวนั้นเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเกี่ยวกับรายละเอียดเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ตรงตามความจริง และยังเป็นการขอแก้ไขก่อนวันสืบพยาน ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขคำฟ้องส่วนนี้ได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในคำฟ้องฎีกา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน