แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลยมิได้นิยามคำว่า “พนักงาน” ไว้ จึงต้องถือว่าคำนี้มีความหมายตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปการที่โจทก์มิได้มาทำงานที่บริษัทจำเลยเป็นประจำทุกวันเพราะลักษณะงานในหน้าที่ของโจทก์ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริษัทจำเลยไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นหาทำให้โจทก์ไม่เป็นพนักงานไปไม่
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2500 ถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2516 จำเลยมีเจตนาจ้างโจทก์ไว้ประจำเช่นเดียวกับพนักงานอื่น โจทก์จึงเป็นพนักงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย มีสิทธินำระยะเวลาดังกล่าวมาคำนวณบำเหน็จได้ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ได้ความว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลย ตามเอกสารหมาย จ.2 กำหนดเรื่องบำเหน็จพนักงานไว้ในข้อ ค. แห่งหมวด 4 ความว่า “พนักงานที่ทำงานบริษัทฯ ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เมื่อออกหรือถึงแก่กรรมโดยไม่มีความผิดตามที่ระบุไว้ท้ายหมวดนี้ มีสิทธิได้รับบำเหน็จพนักงานตามมติที่ประชุมกรรมการดังนี้(1) พนักงานที่บรรจุก่อนวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 จะได้รับบำเหน็จตามเวลาทำงานคิดให้ 1 ปีเท่ากับเงินเดือน 1 เดือน ฯลฯ” โจทก์เข้าทำงานในบริษัทจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2500 โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทจำเลยลงมติให้โจทก์เป็นเลขานุการคณะกรรมการบริษัทจำเลยมีหน้าที่ช่วยเหลืองานตามที่ผู้จัดการจะใช้สอย โดยโจทก์ไม่ต้องมาทำงานที่บริษัทจำเลยเป็นประจำทุกวัน และให้โจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ1,500 บาท โจทก์ได้รับเงินเดือนติดต่อกันมาทุกเดือนและได้รับเงินเดือนขึ้นมาเป็นลำดับ และในฐานะที่โจทก์เป็นเลขานุการคณะกรรมการบริษัทจำเลย โจทก์ยังได้รับเงินโบนัส เบี้ยประชุมและค่าพาหนะอย่างเดียวกับกรรมการบริษัทจำเลย อนึ่ง ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2500 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2504 โจทก์ได้เป็นกรรมการบริษัทจำเลยด้วย ครั้นวันที่ 3 สิงหาคม 2516 โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการบริษัทอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยได้รับเงินเดือนในตำแหน่งหลังนี้เพียงตำแหน่งเดียว มีสิทธิอย่างเดียวกับพนักงานบริษัทจำเลย มีปัญหาว่าระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2500 ถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2516 โจทก์เป็นพนักงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลยหรือไม่
พิจารณาแล้ว ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลยเอกสารหมาย จ.2 มิได้นิยามคำว่า “พนักงาน” ไว้ จึงต้องถือว่าคำนี้มีความหมายตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป โจทก์ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัทจำเลยให้ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการบริษัทจำเลย ได้ทำหน้าที่นี้ตลอดมาเป็นเวลาถึง 16 ปีเศษ ไม่ปรากฏว่าต้องพ้นหน้าที่เมื่อคณะกรรมการบริษัทชุดเดิมพ้นหน้าที่ไป และโจทก์ยังได้รับเงินเดือนติดต่อกันมาทุกเดือนถือได้ว่าโจทก์เป็นพนักงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลยแล้ว แม้โจทก์มิได้มาทำงานที่บริษัทจำเลยเป็นประจำทุกวันก็เป็นเรื่องลักษณะของงานในหน้าที่ของโจทก์ หาทำให้โจทก์ไม่เป็นพนักงานไปไม่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นพนักงานมีสิทธินำระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2500 ถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2516 มาคำนวณบำเหน็จได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน