แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่าอายุความเริ่มนับเมื่อใด เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ปัญหาที่ว่าโจทก์ทราบมูลเหตุแห่งคดีนี้และรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่เมื่อใด เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
เมื่อคดีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ ย่อมไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา ดังนั้น ย่อมไม่มีข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์โดยชอบ โจทก์จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหาได้ไม่ แม้จะมีผู้พิพากษาที่ลงชื่อในศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ก็ตาม
เมื่อคดีขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทโรแยลคลิฟบีชโฮเต็ล จำกัด จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทและมีอำนาจออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของบริษัท เมื่อวันที่ ๑๙ และ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๕ เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตออกเช็คสั่งจ่ายเงินออกจากบัญชีบริษัทที่ธนาคารเอเซียทรัสต์ จำกัด สาขาเพชรบุรีตัดใหม่ จำนวน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไปเข้าฝากที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เงินทุนสากล จำกัด ที่สามีจำเลยเป็นกรรมการอยู่โดยจำเลยทราบดีว่าบริษัทต้องใช้เงินทุนหมุ่นเวียนและยังเป็นลูกหนี้ธนาคารอื่นอยู่ ๓๖ ล้านบาทเศษ ซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยมากกว่าดอกเบี้ยที่ได้รับ การกระทำของจำเลยเป็นการอาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับความไว้วางใจมอบหมายจากบริษัทและผู้ถือหุ้นเพื่อช่วยเหลือบริษัทที่สามีจำเลยเป็นกรรมการ โดยบริษัทไม่มีวัตถุประสงค์เช่นนั้นและกระทำโดยมิได้ปรึกษาคณะกรรมการบริษัทอันฝ่าฝืนข้อบังคับบริษัท ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์และผู้ถือหุ้น เหตุเกิดแขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร และแขวงมักกะสัน เขตพญาไท กรุงเทพมหานครโจทก์ทราบการกระทำของจำเลยเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๕ โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์ดำเนินคดีเอง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๓๕๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วให้ประทับฟ้องเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลแขวงพระนครเหนือพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการผิดหน้าที่โดยทุจริต และคดีขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ศาลแขวงพระนครเหนือฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทราบมูลเหตุแห่งคดีนี้และรู้ตัวผู้กระทำผิดเกิน ๓ เดือน โดยมิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖ นั้นเป็นการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ปัญหาข้อที่ว่าอายุความเริ่มนับเมื่อใดเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ตาม แต่คดีนี้ไม่มีปัญหาพิจารณาว่าอายุความเริ่มนับเมื่อใด ข้อโต้เถียงในคดีนี้อยู่ที่ว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดตั้งแต่เมื่อใดเป็นคนละเรื่องกันการที่โจทก์อุทธรณ์ว่าไม่รู้เรื่องความผิดก่อนวันที่ ๑พฤษภาคม ๒๕๒๕ จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๐ ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ ย่อมไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา เมื่อคดีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ย่อมไม่มีข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์โดยชอบ โจทก์จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหาได้ไม่ แม้ว่าจะมีผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ก็ไม่เกิดผลข้อเท็จจริงที่ว่าคดีขาดอายุความยุติลงตามคำพิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา มาตรา ๓๙(๖) โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกาโจทก์