แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยทำฎีกามายื่นใหม่ พร้อมกับชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาภายในกำหนด 7 วัน และสั่งรับฎีกาจำเลยไว้เป็นการสั่งตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา18 ศาลชอบที่จะกำหนดระยะเวลาให้ได้
ก. ทำนาพิพาทที่จำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของครอบครองอยู่ด้วยไปขอรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วทำนิติกรรมขายให้โจทก์ที่อำเภอโดยจำเลยมิได้ยินยอมให้ ก. ขายที่นาพิพาทส่วนของจำเลยการที่ ก. ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองในที่นาพิพาทส่วนของจำเลยแม้โจทก์รับซื้อไว้โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว ก็ไม่มีสิทธิแต่อย่างใดเพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน จะนำมาตรา1299,1300 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้แก่กรณีมิได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 4,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคำแก้ฎีกาของโจทก์ที่ว่า ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย ไม่ควรจะสั่งขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 เพราะไม่มีพฤติการณ์พิเศษเสียก่อน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ความว่า จำเลยยื่นฎีกาก่อนวันครบกำหนดที่อาจจะยื่นได้ พนักงานรับฟ้องของศาลชั้นต้นตรวจแล้วแจ้งให้จำเลยทราบว่า ฎีกาจำเลยไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยยืนยันให้นำเสนอศาลเพื่อสั่ง แต่พนักงานรับฟ้องของศาลชั้นต้นไม่ได้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาจากจำเลยในทันทีและไม่ได้เสนอฎีกาของจำเลยให้ศาลชั้นต้นสั่งในวันนั้น อีกทั้งไม่ได้รายงานเรื่องนี้ให้ศาลชั้นต้นทราบในวันนั้นหรือวันสุดท้ายที่จำเลยอาจจะยื่นฎีกาได้แต่รายงานเรื่องดังกล่าวให้ศาลชั้นต้นทราบเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่จะยื่นฎีกาได้แล้ว ดังนี้จึงเห็นว่าการตรวจฎีกาว่าจะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นั้นอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้น มิใช่พนักงานรับฟ้อง ถ้าหากพนักงานรับฟ้องของศาลชั้นต้นเรียกให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมในทันที และเสนอฎีกาจำเลยให้ศาลชั้นต้นสั่งในวันนั้น เมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาจำเลยยังมีโอกาสจัดทำฎีกามายื่นใหม่ในวันรุ่งขึ้นได้ ตามรูปเรื่องที่เกิดขึ้นยังปรับเป็นความผิดของจำเลยไม่ถนัด จำเลยอาจเข้าใจผิดว่าศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยแล้ว จึงกลับไปก่อน ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยทำฎีกามายื่นใหม่ พร้อมกับชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาภายในกำหนด 7 วัน และสั่งรับฎีกาจำเลยไว้จึงเป็นการชอบแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ศาลชอบที่จะกำหนดระยะเวลาให้ได้ คำแก้ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น” ฯลฯ
“ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ซื้อที่นาพิพาทจากนายแก้ว นครพัฒน์ โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิในที่นาพิพาททั้งแปลงนั้น เห็นว่าการที่นายแก้ว นครพัฒน์ นำที่นาพิพาททั้งแปลงไปขอรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แล้วทำนิติกรรมขายให้โจทก์ที่อำเภอดังกล่าวข้างต้นนั้น เมื่อฟังว่าจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่นาพิพาทอยู่ด้วยและไม่ได้ยินยอมให้นายแก้ว นครพัฒน์ ขายที่นาพิพาทส่วนของจำเลยด้วย การที่นายแก้ว นครพัฒน์ ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ตามเอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองในที่นาพิพาทส่วนที่เป็นของจำเลยแต่ประการใด เพราะนายแก้ว นครพัฒน์ ไม่ใช่เจ้าของที่นาพิพาทส่วนนี้ แม้โจทก์ได้รับซื้อไว้โดยสุจริตเสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนแล้วก็ไม่มีสิทธิอย่างใด เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน จะนำมาตรา 1299, 1300 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้แต่กรณีนี้ไม่ได้ ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสามศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ 800 บาท ส่วนชั้นฎีกาจำเลยเป็นผู้เรียงฎีกาเองจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้”