แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อไรจะเรียกว่าอยู่ในอำนาจคุมขังของเจ้าพนักงานผู้จับกุมแลหลบหนีจากที่คุมขังการที่เจ้าพนักงานตำรวจบอกว่าจะจับผู้ใด แล้วยอมผ่อนผันให้ผู้นั้นแสดงความบริสุทธิ์ในเหตุที่ต้องสงสัย ยังไม่เรียกว่าอยู่ในอำนาจคุมขังของเจ้าพนักงาน
ย่อยาว
จำเลยลงจากรถไฟที่สถานีหัวลำโพง พอเดินมาถึงหน้าสถานี พลตำรวจ ด.มีความสงสัยจึงขอค้นกระเป๋าหนัง จำเลยบอกว่าลูกกุญแจอยู่ที่นายห้างไขไม่ได้ พลตำรวจ ด.จะจับตัวไปโรงพัก จำเลยบอกว่าจะไปเอาลูกกุญแจที่นายห้างแล้วก็หิ้วกระเป๋าลงจากรถยนต์เข้าไปในชานสถานี พลตำรวจ ด.กับ ส.ต.ราษฎรก็พากันเดินตามจำเลยไป พอพ้นชายคาสถานีจำเลยวางกระเป๋าวิ่งหนีไป พลตำรวจ ด.ไล่จับจำเลยได้ปรากฎว่าในกระเป๋ามีฝิ่นเถื่อนหนัก ๙๘ ตำลึง ๑๙ หน
ศาลอาญาเห็นว่าพะยานโจทก์แตกต่างกัน ให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีผิดตามพ.ร.บ.ฝิ่น พ.ศ.๒๔๖๔ ม.๕-๖-๓๖ ( ข ) ข้อ ๒ แล ม.๕๐ ให้ปรับ ๓ เท่าราคาฝิ่นเปนเงิน ๔๔๑๖ บาท ๗๕ สตางค์แลให้เสียค่ารางวัลนำจับอีก ๒๙๔ บาท กับให้จำคุกจำเลยฐานหลบหนีจากที่คุมขังตามกฎหมายอาญา ม.๑๖๓ มีกำหนด ๖ เดือน
ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องกับศาลอุทธรณ์ในข้อที่ลงโทษจำเลยฐานมีฝิ่นเถื่อน แต่ข้อที่ลงโทษฐานหลบหนีจากที่คุมขังนั้น ยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้ถูกเจ้าพนักงานจับกุมแล้วหลบหนี เพราะเมื่อ
จำเลยบอกว่าจะไปเอาลูกกุญแจที่นายห้างแล้วเดินย้อนเข้าไปในชานสถานี พลตำรวจ ด.กับพวกก็พากันเดินตามจำเลยไปด้วยนั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับกุมอยู่ในอำนาจคุมขังของเจ้าพนักงาน จึงให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อนี้เสีย นอกนั้นคงยืนตาม