คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1667/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อขายให้สิทธิแก่โจทก์ผู้จะซื้อที่จะขอชำระราคาทั้งหมดก่อนกำหนดพร้อมกับรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้ทันทีเมื่อโจทก์พร้อมจะชำระเงินที่เหลือทั้งหมดให้แก่จำเลยก่อนกำหนดโดยบอกกล่าวให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว จำเลยไม่สามารถจะไถ่ถอนจำนองทรัพย์สินนั้นจากธนาคารเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ทันทีเพราะธนาคารต้องการให้จำเลยชำระหนี้จำนองทั้งหมด แต่จำเลยไม่มีเงินพอ จึงเป็นความผิดของจำเลยเอง จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้วจำเลยต้องคืนเงินค่าทรัพย์สินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไว้แล้ว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากจำนวนเงินที่จำเลยได้รับไว้แต่ละครั้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคา 5,500,000 บาท โจทก์ได้วางมัดจำและชำระราคาให้จำเลยไปแล้ว 1,500,000 บาท ราคาส่วนที่เหลือตกลงว่า โจทก์จะผ่อนชำระเป็น 4 งวด ภายในเวลา 3 ปีครึ่ง เนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวติดจำนองธนาคาร จึงตกลงกันว่า เมื่อโจทก์ชำระราคาทรัพย์สินให้จำเลยคนครบก่อนครบกำหนดตามสัญญา จำเลยจะไถ่ถอนจำนองและจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้โจทก์ทันที ต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบว่าจะขอชำระราคาทั้งหมด แต่จำเลยละเลยไม่ดำเนินการเพื่อขอไถ่ถอนจำนองทรัพย์สินให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาอันสมควร ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา พร้อมกับเรียกเงิน2,500,000 บาท และค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากจำนวนเงินที่จำเลยได้รับ นับแต่วันที่รับถึงวันฟ้องเป็นเงิน617,486.29 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,117,486.29 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้น 2,500,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า หลังจากทำสัญญาจะซื้อขายทรัพย์สินกับโจทก์แล้วจำเลยได้ส่งมอบการครอบครองปั๊มน้ำมันและบริเวณให้โจทก์ดำเนินกิจการแทน เมื่อโจทก์ชำระราคางวดแรก จำเลยก็ส่งมอบบ้านพักและโอนการเป็นตัวแทนค้าน้ำมันให้โจทก์ โจทก์ทราบดีว่าทรัพย์สินดังกล่าวติดจำนอง เมื่อโจทก์แจ้งความประสงค์ขอชำระหนี้ให้ครบถ้วน จำเลยมีหนังสือถึงธนาคารขอให้อนุมัติให้จำเลยไถ่ถอนจำนองทรัพย์สินแต่ธนาคารยังไม่อนุมัติ โจทก์มีหน้าที่จะต้องชำระราคาทรัพย์สินในงวดต่อ ๆ ไป แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยไม่เคยตกลงกำหนดวันเพื่อรับชำระราคาทรัพย์สินส่วนที่เหลือและจัดการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้โจทก์ การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาจึงไม่ถูกต้องและไม่สุจริตค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,500,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสามพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2527 โจทก์ทั้งสามและจำเลยได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายปั๊มน้ำมันชื่อว่าท่าม่วงบริการและทรัพย์สินอื่น ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกิจการปั๊มน้ำมันพร้อมทั้งที่ดินอันเป็นที่ตั้งของปั๊มน้ำมันนี้ในราคา 5,500,000 บาทตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 และสัญญาเพิ่มเติมลงวันที่ 20 มีนาคม 2528เอกสารหมาย จ.2 โจทก์ทั้งสามได้ชำระเงินมัดจำ 50,000 บาท และชำระเงินในวันทำสัญญาเอกสารหมาย จ.1 อีก 1,450,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,500,000 บาท ให้จำเลยรับไปแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 4,000,000บาท ตกลงผ่อนชำระเป็น 4 งวด งวดละ 1,000,000 บาท งวดแรกชำระวันที่ 5 กรกฎาคม 2528 งวดสุดท้ายชำระวันที่ 5 มกราคม 2531โดยจำเลยได้มอบการครอบครองปั๊มน้ำมันและกิจการขายน้ำมันให้แก่โจทก์ทั้งสามเข้าดำเนินการขายน้ำมันแทนจำเลยแล้ว ตั้งแต่วันทำสัญญาปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามมีว่าจำเลยผิดสัญญาหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า หนังสือสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.1ข้อ 6 และข้อ 8 ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะขอชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อขายทั้งหมดก่อนกำหนดพร้อมกับรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้ทันที เพียงแต่ต้องปฏิบัติเพิ่มตามข้อตกลงในเอกสารหมาย จ.2เท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็ได้มีหนังสือแสดงเจตนาที่จะชำระราคาทรัพย์สินส่วนที่เหลือทั้งหมดก่อนครบกำหนดสัญญาถึงจำเลย และจำเลยได้มีหนังสือตอบโจทก์ว่า ขอให้โจทก์ชำระหนี้ให้ตรงเวลาและปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของสัญญา ส่วนเรื่องที่โจทก์จะชำระหนี้ทั้งหมดไม่มีปัญหาในการปลดจำนองแต่อย่างใด จำเลยสามารถไถ่ถอนจำนองได้โดยจะต้องแจ้งวันที่ชำระหนี้ทั้งหมดให้ธนาคารทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน เพื่อทางธนาคารจะได้คิดจำนวนหนี้ทั้งหมดเมื่อโจทก์ทั้งสามชำระเงินงวดแรกจำนวน 1,000,000 บาท ให้จำเลยในวันที่ 4 กันยายน 2528 แล้ว โจทก์ทั้งสามได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอชำระราคาทรัพย์สินส่วนที่เหลืออีก 2 ครั้ง จำเลยก็เบิกความว่า หลังจากโจทก์ชำระเงินงวดแรกแล้วได้ติดต่อขอไถ่ถอนจำนองต่อธนาคาร แต่ทางธนาคารกรุงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ยังไม่อนุมัติ แสดงว่าจำเลยทราบการที่โจทก์ขอชำระหนี้ทั้งหมดแล้วแต่อย่างไรก็ตามที่จำเลยอ้างว่าได้ติดต่อขอไถ่ถอนจำนองต่อธนาคารนี้เมื่อพิจารณาข้อความในหนังสือที่จำเลยมีถึงผู้จัดการธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขากาญจนบุรี ตามเอกสารหมาย ล.1 แล้ว สาระสำคัญหาใช่การขออนุมัติไถ่ถอนจำนองไม่ แต่เป็นเรื่องที่จำเลยขอผ่อนผันการชำระหนี้ต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขากาญจนบุรี โดยลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 15 ต่อปี และขอให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยแบบไม่ทบต้น กับเสนอเงื่อนไขจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด6 เดือน นับแต่วันที่ธนาคารอนุมัติอีก ซึ่งเห็นได้ว่าจำเลยมิได้ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองทรัพย์สินที่จะขายให้โจทก์อย่างแท้จริงทั้งโจทก์ยังนำสืบได้ความว่าเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2529 โจทก์ที่ 1ได้เจรจากับจำเลยที่ปั๊มน้ำมันท่าม่วงบริการตกลงกับจำเลยว่าในวันที่ 3 กรกฎาคม 2529 จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินตามเอกสารหมาย จ.1 ที่อำเภอท่าม่วง โดยโจทก์จะชำระเงินที่เหลือทั้งหมดให้แก่จำเลย และเมื่อถึงวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ที่ 1 ก็ได้ไปรอจำเลยที่อำเภอท่าม่วง พร้อมจะชำระเงินส่วนที่เหลือให้จำเลยและรับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน แต่จำเลยไม่มาตามกำหนดนัด พฤติการณ์ของจำเลยส่อให้เห็นว่าจำเลยไม่สามารถจะไถ่ถอนจำนองทรัพย์สินตามเอกสารหมาย จ.1เพราะมีทรัพย์สินอื่นติดจำนองอยู่กับธนาคารด้วย ธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขากาญจนบุรี เป็นฝ่ายเร่งรัดให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาจำนองทั้งหมด ซึ่งจำเลยก็ไม่มีเงินจะไถ่ถอนจำนองได้ มิใช่กรณีที่ธนาคารยังไม่อนุมัติให้ไถ่ถอนจำนองแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ทั้งสามพร้อมจะชำระเงินที่เหลือทั้งหมดให้แก่จำเลยก่อนกำหนดโดยบอกกล่าวให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว จำเลยไม่สามารถจะไถ่ถอนทรัพย์สินที่จำนองไว้ได้ทันทีเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้โจทก์ทั้งสามโดยความผิดของจำเลยเอง จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อโจทก์ทั้งสามได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าทรัพย์สินที่โจทก์ทั้งสามชำระให้แก่จำเลยไว้ก่อน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากจำนวนเงินที่จำเลยได้รับไว้แต่ละครั้ง
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share