คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16640/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานซ่องโจรเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 5 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ซึ่งบัญญัติไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ความสงบสุข และความปลอดภัยของประชาชนโดยส่วนรวม มิใช่บัญญัติไว้เพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงเป็นส่วนตัว ดังนั้น ความผิดฐานซ่องโจรถือว่าเป็นการกระทำต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ซึ่งเป็นราษฎรจึงไม่ใช่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดโดยตรง มิใช่ผู้เสียหายนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้เอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 180, 188, 210, 264, 265, 266, 268, 269, 83, 84, 86, 91
ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 ถึงที่ 15 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180, 264 และ 269
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า โจทก์เคยเป็นกรรมการของบริษัทเอเชียวิชั่นส์ จำกัด ในปี 2539 บริษัทเอเชียวิชั่นส์ จำกัด กู้เงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด จำนวน 90,000,000 บาท โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 352/39 ให้ไว้ในเป็นประกัน นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้ค้ำประกันหนี้รายดังกล่าวด้วย ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2540 บริษัทเอเชียวิชั่นส์ จำกัด กู้ยืมเงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด อีก 90,000,000 บาท แล้วนำเงินไปชำระหนี้เดิม โจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันกู้ยืมในปี 2539 จึงหลุดพ้นจากหนี้ ทั้งโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินรายใหม่ด้วย โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ชำระหนี้ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยาจำกัด แต่ในปี 2540 ได้เกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจเป็นเหตุให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด และสถาบันการเงินอื่นหลายแห่งถูกปิดกิจการ คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ได้ประมูลขายทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด ให้แก่บริษัทเอ เอส โอ วัน (เดลาแวร์) แอล แอล ซี จำกัด แล้วบริษัทดังกล่าวโอนสิทธิให้จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาซื้อทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด แทน จำเลยที่ 1 จึงเข้าสวมสิทธิของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระหนี้ที่บริษัทเอเชียวิชั่นส์ จำกัด กู้จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2540 โจทก์ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือแจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด และจำเลยที่ 6 ว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกันบริษัทเอเชียวิชั่นส์ จำกัด ทั้งได้แจ้งด้วยว่าหนี้ที่บริษัทเอเชียวิชั่นส์ จำกัด กู้จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด ที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันได้ระงับลงแล้ว ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2543 จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งขอให้บังคับให้โจทก์รับผิดในมูลหนี้จำนวน 144,568,081 บาท โดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันบริษัทเอเชียวิชั่นส์ จำกัด และแนบสำเนาหนังสือขอรับเงินกู้ ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2540 มาท้ายคำฟ้องแต่เอกสารดังกล่าวมีข้อความบางตอนลบเลือน ข้อความที่ว่า นำเงินจำนวนดังกล่าวหักชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเลขที่ 352/39 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2539 ซึ่งข้าพเจ้าเป็นผู้ออกตั๋ว ถูกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 16 และที่ 17 ร่วมกันทำให้ลบเลือนหายไปโดยมุ่งหวังให้ศาลเชื่อว่ามูลหนี้เดิมที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันบริษัทเอเชียวิชั่นส์ จำกัด ยังไม่ระงับไป เอกสารฉบับนั้นจึงเป็นเอกสารเท็จ นอกจากนี้ในปี 2544 จำเลยที่ 1 ยังฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลล้มละลายกลางด้วย แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 16 และที่ 17 ได้ร่วมกันนำสืบโดยนำเอกสารเท็จฉบับนั้นไปแสดงต่อศาลแพ่งและศาลล้มละลายกลาง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ยิ่งกว่านั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 16 และที่ 17 ยังร่วมกันใช้จ้างวานให้จำเลยที่ 10 เบิกความต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 มีใจความสำคัญว่า โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันบริษัทเอเชียวิชั่นส์ จำกัด ในการกู้ยืมเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2540 จำนวน 90,000,000 บาท ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยที่ 10 ไม่ได้ร่วมรู้เห็นในการกู้ยืมเงินดังกล่าวเลย ทั้งข้อความเท็จดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะหากศาลหลงเชื่อคำเบิกความของจำเลยที่ 10 ก็อาจพิพากษาให้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลายได้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีแพ่งและคดีล้มละลายนั้นเสีย ก็ไม่มีผลลบล้างความผิดที่ได้กระทำไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 16 และที่ 17 ร่วมสมคบกันกระทำความผิดดังกล่าวยังเป็นความผิดฐานซ่องโจรอีกบทหนึ่งด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 16 และที่ 17 ในความผิดฐานซ่องโจรหรือไม่ เห็นว่า แม้ในความผิดฐานซ่องโจรกฎหมายจะไม่ได้บัญญัติว่าเป็นการกระทำความผิดต่อรัฐและรัฐเป็นผู้เสียหายก็ตาม แต่ความผิดฐานซ่องโจรนั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 5 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ซึ่งบัญญัติไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ความสงบสุข และความปลอดภัยของประชาชนโดยส่วนรวม มิใช่บัญญัติไว้เพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงเป็นส่วนตัว ดังนั้น ความผิดฐานซ่องโจรถือว่าเป็นการกระทำต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ซึ่งเป็นราษฎรจึงไม่ใช่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดโดยตรง มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้เอง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share