แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 148 ประมวลกฎหมายอาญานั้น หาใช่จะต้องเป็นการข่มขืนใจให้ผู้ถูกข่มขืนใจกลัวแต่ประการเดียวไม่เพียงแต่มีการจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์หรือประโยชน์ ก็เป็นความผิดแล้ว
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานโดยตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบภาษีอากรตามร้านค้า แม้ตามระเบียบราชการก่อนตรวจสอบเกี่ยวกับภาษีอากรจำเลยจะต้องได้รับมอบหมายหรือรับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาก่อนก็ตามการที่จำเลยนัดหมายให้ผู้เสียหายไปพบจำเลยที่สถานที่ทำงานของจำเลยแล้วเอาบัตรสนเท่ห์กล่าวหาผู้เสียหาย ไม่ออกใบเสร็จรับเงินเสียภาษีให้รัฐบาลไม่ครบ ให้ผู้เสียหายดู แล้วเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหาย ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจให้ผู้อื่นมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่ตนหรือผู้อื่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับราชการเป็นข้าราชการประจำสังกัดกรมสรรพากร ตำแหน่งสรรพากรตรี ประจำกองตรวจภาษีอากร เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการตรวจสอบภาษีอากร ตามร้านค้าทั่วไป เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ เวลากลางวัน จำเลยบังอาจใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ใช้วาจาขู่เข็ญขืนใจนายประทีปหรือแก้ว ธนะติวะกุล ว่ามีผู้ส่งบัตรสนเท่ห์ถึงอธิบดีกรมสรรพากร ใจความว่า ที่ร้านนายประทีปไม่ออกใบเสร็จรับเงินคงจะเสียภาษีให้รัฐบาลไม่ครบ ให้มอบให้หรือหาทรัพย์มาให้จำเลย ๔,๐๐๐บาท มิฉะนั้นหากจำเลยทำการตรวจสอบตามวิธีการแล้วจะต้องเสียเงินเป็นหมื่นบาท ถ้าเสียเงินให้จำเลยเรื่องจะยุติ นายประทีปมีความกลัวจึงมอบเงินให้จำเลย ๒,๐๐๐ บาท การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายประทีปและกรมสรรพากร เหตุเกิดที่ตำบลชนะสงครามและที่ตำบลบ้านพานถมอำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๘, ๑๕๗, ๙๐, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔, ๑๓ สั่งริบบัตรสนเท่ห์และคืนเงิน ๒,๐๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๘, ๑๕๗ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔, ๑๓ แต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๘ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก ๗ ปี ริบบัตรสนเท่ห์ เงินของกลาง ๒,๐๐๐ บาท คืนนายประทีปไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยกระทำไปโดยเอกเทศ นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘ และ ๑๕๗ แต่เป็นความผิดตามมาตรา ๓๐๙ ซึ่งโจทก์สืบสมแต่อ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษฐานความผิดที่ถูกต้องได้ พิพากษาแก้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙ จำคุก ๓ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘
จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดไม่ว่าข้อหาใดข้อหาหนึ่ง จะลงโทษตามมาตรา ๓๐๙ ไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงต่างกับฟ้องในข้อสารสำคัญ ไม่ใช่อ้างบทผิด และไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติตามโจทก์นำสืบว่าผู้เสียหายตั้งร้านรับจ้างตัดเสื้อกางเกง จำเลยเป็นข้าราชการตำแหน่งสรรพากรตรี ประจำกองตรวจภาษีอากร กรมสรรพากร มีหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรในเขตจังหวัดพระนครและธนบุรี ในเมื่อรับมอบหมายหรืออนุมัติจากผู้บังคับบัญชา และต้องมีเจ้าหน้าที่อย่างน้อย ๒ คน และมีข้าราชการตั้งแต่ชั้นโทขึ้นไปเป็นหัวหน้า จำเลยได้นำบัตรสนเท่ห์มีใจความว่า ผู้เสียหายตัดเสื้อกางเกงแพงและไม่ออกบิลให้ผู้เสียหายดูและบอกว่า ถ้าเจ้าหน้าที่มาตรวจภาษีตามบัตรสนเท่ห์จะยุ่งยากมากและจะเสียเงินเป็นหมื่น ถ้าไม่ให้เรื่องยุ่ง ก็เสียเงินสี่พันบาท จะไม่มีเรื่องอะไรผู้เสียหายขอให้ ๒,๐๐๐ บาท แล้วให้เงินจำเลยไป และวินิจฉัยว่าการที่จำเลยซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับตรวจสอบภาษีอากรตามร้านค้าได้นัดหมายให้ผู้เสียหายไปพบที่กรมสรรพากรอันเป็นสถานที่ทำงานของจำเลย แล้วเอาบัตรสนเท่ห์ให้ผู้เสียหายดู และเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหาย ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่าจำเลยได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบแล้ว แม้ตามระเบียบราชการ ก่อนออกตรวจสอบเกี่ยวกับภาษีอากร จำเลยจะต้องได้รับมอบหมายหรือรับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาก่อนก็ตาม และที่จำเลยพูดว่า ถ้ามีการตรวจสอบผู้เสียหายจะต้องเสียเงินเป็นหมื่น ถ้าไม่ให้มีเรื่องก็ต้องเสียเงิน และจำเลยรับเงินจากผู้เสียหายไปเช่นนี้ หาใช่เป็นการแนะนำฐานเพื่อนฝูง และการที่จำเลยไม่ได้พูดว่าจำเลยมีอำนาจตรวจภาษี ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะโดยตำแหน่งจำเลยมีอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว ทั้งการเป็นผิดมาตรานี้ก็หาใช่จะต้องเป็นการข่มขืนใจให้ผู้ถูกข่มขืนใจกลัวแต่ประการเดียวไม่ เพียงแต่มีการจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ ก็เป็นความผิดแล้ว เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา ๑๔๘แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ว่า จะลงโทษจำเลยตามมาตรา ๓๐๙ ได้หรือไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๘ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ ให้จำคุกจำเลย ๕ ปี นอกจากที่แก้ให้คงไว้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์