คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1660/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ให้การว่าไม่เคยกู้เงินโจทก์ เซ็นชื่อในหนังสือสัญญากู้ในฐานะเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 เท่านั้น คำให้การดังกล่าวเท่ากับปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ในฐานะเป็นผู้กู้ร่วม กับจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ที่ศาล จะต้องพิจารณาให้ได้ความต่อไป ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานเป็นการไม่ถูกต้อง
เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยที่ 2 ลงชื่อในเอกสารสัญญากู้ ในฐานะเป็นผู้กู้ร่วมกับจำเลยที่1 หรือลงชื่อในฐานะเป็นภริยาผู้ให้ความยินยอม การนำสืบในประเด็นตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้ นำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสอง แล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ ให้ร่วมกันชำระแก่โจทก์ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ต่อไป โจทก์ฎีกาว่า คำให้การของจำเลยไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องนำสืบกันต่อไป

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 คงฟังได้เป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่รับเข้ามาว่าได้เซ็นชื่อเป็นผู้กู้ไว้ในหนังสือสัญญากู้ ตามฟ้องจริง แต่ต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้กู้นั้น ไม่มีประเด็นที่จะสืบ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยกู้เงินโจทก์ จำเลยที่ 2 เซ็นชื่อในหนังสือสัญญากู้ในฐานะเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเท่ากับปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ในฐานะเป็นผู้กู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ดังกล่าว ที่ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความต่อไป และเมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 ลงชื่อในเอกสารสัญญากู้ในฐานะเป็นผู้กู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือลงชื่อในเอกสารสัญญากู้ในฐานะเป็นภริยาผู้ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ดังนี้แล้ว การนำสืบในประเด็นตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้นำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มา ตรา 94 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกา ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่”

Share