คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 166/2478

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อย่างไรไม่เรียกว่าเป็นพฤตติการณ์ที่ลูกหนี้จะไม่ต้องรับผิดชอบตามมาตรา 205 ลูกหนี้ต้องคุมขังอยู่แต่ยังมีโอกาศที่จะติดต่อกับเจ้าหนี้ได้ ดังนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้รับเงินมัดจำได้ เงินล่วงหน้าในการซื้อขายเป็นเงินมัดจำ

ย่อยาว

ได้ความว่าเดิมโจทก์ทำสัญญาซื้อเข้าจากจำเลย ๆ ได้รับเงิน ๒๐๐๐ บาท เป็นเงินล่วงหน้าในการขายเข้าให้โจทก์ แลเมื่อตวงเสร็จแล้วโจทก์จะชำระเงินให้จำเลยภายใน ๑๕ วัน เมื่อถีงกำหนดตามสัญญาโจทก์ก็มิได้ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยจึงมีหนังสือเตือน และผ่อนเวลาให้โจทก์ไปถึงวันที่ ๗/๘/๗๖ ครั้นถึงกำหนดโจทก์ก็ผิดนัดอีก จำเลยจึงริบเงิน ๒๐๐๐ บาท เสียในฐานเป็นมัดจำ
ปรากฏว่าระวางวันที่ ๑๑/๗/๗๖ จนถึงวันที่ ๑๗/๘/๗๖ โจทก์ต้องถูกคุมขังอยู่ที่สถานีตำรวจโดยถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกบฎ เมื่อพ้นจากการคุมขังแล้วจึงไปขอเงินมัดจำคืนจากจำเลย ๆ ไม่ให้ โจทก์เห็นว่าการผิดนัดชำระหนี้เป็นพฤตติการณ์ที่โจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบ จึงฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลย
ศาลฎีกาเห็นว่าตามทางพิจารณาได้ความว่าระวางโจทก์ต้องขัง โจทก์ถูกห้ามมิให้ติดต่อกับคนอื่น นอกจากจะได้รับอนุญาตจากรองอธิบดีกรมตำรวจ แสดงว่าโจทก์ก็มีโอกาศติดต่อกับคนภายนอกได้อยู่ แต่โจทก์ก็ไม่กระตือรือร้นขออนุญาตติดต่อ เป็นการยากที่จะเรียกว่าเป็นการชำระหนี้โดยมีพฤตติการณ์อันโจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบ ทั้งปรากฏอีกด้วยว่าโจทก์เคยติดต่อกับบุคคลภายนอก แลทั้งได้เคยมีจดหมายถึง ช.จำเลยได้อีกด้วย แต่โจทก์มิได้ถือโอกาศปฏิบัติตามสัญญา พฤตติการณ์เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ผิดสัญญา จึงพิพากษายืนตามศาลเดิมว่าจำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำพอคุ้มค่าเสียหายได้ โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนไม่ได้ ให้ยกฟ้อง+โจทก์

Share