แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การทำหนังสือยกให้ที่ดินมีโฉนดโดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญายกให้นั้นย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
คำว่า “ทรัพย์สิน” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 523 หมายถึงเฉพาะสังหาริมทรัพย์ ทั่ว ๆ ไปเท่านั้น มิได้หมายถึงอสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์บางชนิดซึ่งถ้าจะซื้อขายต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 456 วรรค 1 ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์บางชนิดซึ่งถ้าจะซื้อขายต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 456 วรรค 1 ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ดังระบุไว้ตาม มาตรา 456 วรรค 1 แล้ว การให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงจะสมบูรณ์
คำสั่งของศาลชั้นต้นอันเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี มิใช่เป็นการวินิจฉัยว่าฟ้องไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องแล้วในลักษณะอันแท้จริงจึงเป็นยกฟ้อง หาใช่ไม่รับฟ้องไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำหนังสือตกลงยอมแบ่งที่ดินเป็นที่บ้านให้โจทก์โดยเสน่หา โดยจำเลยมอบที่ดินให้โจทก์ครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินตามส่วนที่จำเลยแบ่งให้เป็นต้นมาตั้งแต่ทำสัญญาและสัญญายอมให้โจทก์ขอแบ่งแยกโฉนดของจำเลยออกเป็นส่วนของโจทก์ ต่อมาโจทก์ขอให้จำเลยไปทำการแบ่งแยกโฉนดให้เป็นส่วนของโจทก์ตามสัญญา จำเลยกลับบิดพริ้วไม่ยอมและหาเหตุขับไล่รบกวนสิทธิ์ของโจทก์ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยไปทำการแบ่งแยกโฉนดให้เป็นส่วนของโจทก์ต่อไป
ศาลชั้นต้นเห็นว่า หนังสือยกให้เป็นการยกให้ที่ดินมีโฉนด ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๒๕ จะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย แต่เมื่อการยกให้นี้มิได้จดทะเบียนตามกฎหมาย จึงไม่สมบูรณ์โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้อง สั่งไม่รับประทับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การยกให้ที่ดินมีโฉนดแล้วและโจทก์ได้ครอบครองมาเพียง ๓ ปีเท่านั้น โจทก์จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ ที่โจทก์ฎีกาว่า การให้ที่ดินรายนี้สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๒๓ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า ทรัพย์สิน ตามมาตรา ๕๒๓ หมายถึงเฉพาะสังหาริมทรัพย์ทั่ว ๆ ไป เท่านั้น มิได้หมายถึงอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์บางชนิดซึ่งถ้าซื้อขายกันต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย ดังระบุไว้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๕๖ วรรค ๑ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ดังระบุไว้ตาม มาตรา ๔๕๖ วรรค ๑ แล้ว การให้จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงจะสมบูรณ์ตามมาตรา ๕๒๔ ฉะนั้น คดีนี้ เมื่อการให้ที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้จึงไม่สมบูรณ์ตามมาตรา ๕๒๕ หากว่าเมื่อจำเลยยังไม่โอนโฉนดให้ การให้จึงยังไม่สมบูรณ์ การปฏิบัติระหว่างโจทก์จำเลยจึงถือว่า เป็นเพียงคำมั่นจะให้ตามมาตรา ๕๒๖ คำมั่นนี้ก็มิได้มีการ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์จะบังคับตามคำมั่นนั้นมิได้ เมื่อเป็นดังนี้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยได้
อนึ่ง คำสั่งของศาลชั้นต้นในฟ้องของโจทก์นั้น เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๑ (๒) และมาตรา ๑๔๘ วรรคแรกแล้ว มิใช่เป็นการวินิจฉัยว่าฟ้องไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องประการใด ฉะนั้น ในลักษณะอันแท้จริงจึงเป็นการยกฟ้องโจทก์ หาใช่ไม่รับฟ้องโจทก์ไม่
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์