แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า วัดจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้รุกล้ำเข้าไปปลูกสร้างวัดและกำแพงเขตของวัดจำเลยที่ 1 ในที่ดินมีโฉนดของโจทก์กับญาติโดยไม่สุจริต ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยกับบริวารให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปและคืนที่ดินให้โจทก์ ทางพิจารณาฟังได้ว่า โจทก์ได้อุทิศที่พิพาทให้แก่วัดจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ก่อนวัดจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ลงมือสร้างวัดจำเลยที่ 1 ขึ้นใหม่ดังนี้ กรณีไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 ดังฎีกาของโจทก์ และเมื่อวัดจำเลยที่ 1 วางศิลาฤกษ์ สร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ อาคารถาวร โจทก์ทราบและไม่คัดค้าน แสดงว่าโจทก์ยินยอมให้วัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 กระทำเช่นนั้น ฟังได้ว่าโจทก์ได้สละที่พิพาทให้แก่วัดจำเลยที่ 1 แล้ว ยังฟังไม่ได้ว่าวัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้รุกล้ำเข้าไปปลูกสร้างวัดและกำแพงเขตวัดจำเลยที่ 1 ในที่ดินของโจทก์กับญาติโดยไม่สุจริต รูปคดีกลับเชื่อว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิฟ้องจำเลยโดยไม่สุจริต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับญาติเป็นเจ้าของที่ดินนาโฉนดที่ ๑๙๐๙ เมื่อปี ๒๕๐๔ วัดจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ กับบริวารได้รุกล้ำเข้าไปปลูกที่พักอาศัยชั่วคราวในที่ดินนาแปลงนี้และขออาศัยชั่วคราว อ้างว่าจะสร้างวัดกลางทุ่ง (ร้าง) จำเลยที่ ๑ ขึ้นใหม่ โจทก์ยินยอม ต่อมาเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๙ โจทก์กับผู้มีชื่อในโฉนดนี้ร่วมกันได้ขายที่ดินนาไปบางส่วนและลงชื่อผู้ซื้อในโฉนดร่วมกัน ครั้นเดือนมิถุนายน ๒๕๑๐ เจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดแบ่งแยกที่ดินซึ่งได้ขายไป ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ กับบริวารได้สร้างวัดกลางทุ่ง (ร้าง) จำเลยที่ ๑ ขึ้นใหม่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กและกำแพงถาวรเรียกชื่อว่าวัดวชิรธรรมสาธิต รุกล้ำเข้าไปในที่ดินนาของโจทก์กับพวกดังกล่าว กว้าง ๒ เส้นเศษ ยาว ๓ เส้นเศษ เนื้อที่ประมาณ ๖-๗ ไร่ โจทก์แจ้งให้วัดจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ทราบว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของโจทก์ วัดจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ อ้างว่าเป็นที่ดินของวัดจำเลยที่ ๑ กรมศาสนาจำเลยที่ ๓ ไม่จัดการให้ตามคำร้องเรียนของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับขับไล่จำเลยกับบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปและคืนที่ดินนาให้โจทก์ ให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๘๗,๐๐๐ บาท และอื่น ๆ
วัดจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ให้การและฟ้องแย้งว่า นายแดงหม้ายได้ขอออกโฉนดที่ ๑๙๐๙ ตามฟ้องเกินกว่าตราจองไปเป็นเนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๒ งาน ๘๘ วา จึงทับที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินของวัดกลางทุ่ง (ร้าง) จำเลยที่ ๑ ซึ่งมีเนื้อที่ ๑๒ ไร่เศษ โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ในระหว่างวัดจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ทำการก่อสร้างอาคารและกำแพงของวัดจำเลยที่ ๑ โจทก์กับญาติไม่ได้คัดค้าน ได้มาฟ้องเป็นคดีเรื่องนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ ๑๙๐๙ แบ่งที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่ให้วัดจำเลยที่ ๑ ห้ามโจทก์กับบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และถ้าโฉนดที่ ๑๙๐๙ ไม่ได้ออกทับที่ของวัดกลางทุ่ง (ร้าง) จำเลยที่ ๑ ก็ให้โจทก์เสียค่าอาคารและถาวรวัตถุซึ่งวัดจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ได้ปลูกสร้างในที่พิพาทเป็นเงิน ๔,๐๕๕,๐๐๐ บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินของวัดกลางทุ่ง (ร้าง) จำเลยที่ ๑ มีเนื้อที่ตามแผนที่ระวาง ๔ – ๔ ต ๗ – ๘ อ ๖ ไร่ ๓ งาน ๘ วาเท่านั้น วัดจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ก่อสร้างอาคารถาวรวัตถุในที่พิพาทโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่ามีอำนาจหน้าที่ดูแลจัดการศาสนสมบัติของวัดกลางทุ่ง (ร้าง) จำเลยที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๐๖ ผู้มีชื่อได้ยื่นเรื่องราวต่อมหาเถรสมาคมและทางราชการขอยกวัดกลางทุ่ง (ร้าง) ขึ้นเป็นวัดมีพระสงฆ์ และจำเลยที่ ๒ ได้ดำเนินการในเรื่องนี้จนได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๖ แล้ว จำเลยที่ ๓ ก็หมดหน้าที่ จำเลยที่ ๓ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓
ศาลชั้นต้นฟังว่า โฉนดที่ ๑๙๐๙ ไม่ได้ออกทับที่ดินของวัดกลางทุ่ง (ร้าง) จำเลยที่ ๑ วัดจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ได้สร้างวัดกลางทุ่ง (ร้าง) จำเลยที่ ๑ ขึ้นใหม่ในที่ดินของวัดกลางทุ่ง (ร้าง) จำเลยที่ ๑ และภายในที่พิพาทซึ่งโจทก์ได้ตกลงอุทิศให้แก่วัดจำเลยที่ ๑ ไม่ได้บุกรุก พิพากษายกฟ้อง เมื่อวัดจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท ฟ้องแย้งย่อมตกไปในตัว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้แน่นอนว่า โจทก์ได้อุทิศที่พิพาทให้แก่วัดจำเลยที่ ๑ ตั้งแต่ก่อนวัดจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ลงมือสร้างวัดจำเลยที่ ๑ ขึ้นใหม่ ทั้งกรณีไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๒๕ ดังฎีกาของโจทก์ด้วย และข้อที่โจทก์เบิกความว่า เมื่อวัดจำเลยที่ ๑ วางศิลาฤกษ์ สร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ อาคารถาวร โจทก์ทราบและไม่คัดค้าน แสดงว่าโจทก์ยินยอมให้วัดจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ กระทำเช่นนั้น ฟังได้ว่าโจทก์สละที่พิพาทให้แก่วัดจำเลยที่ ๑ แล้ว ยังฟังไม่ได้ว่าวัดจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ได้รุกล้ำเข้าไปปลูกสร้างวัด และกำแพงเขตวัดจำเลยที่ ๑ ในที่ดินของโจทก์กับญาติโดยไม่สุจริต รูปคดีกลับเชื่อว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิฟ้องจำเลยโดยไม่สุจริต ดังคำให้การและฟ้องแย้งของวัดจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ อีกด้วย
พิพากษายืน.