แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ให้จำเลยกู้เงิน 500 บาท โดยให้จำเลยเขียนสัญญากู้ 500 บาทฉบับหนึ่ง แล้วให้เขียนสัญญากู้อีกฉบับหนึ่งว่าจำเลยกู้ 20,000 บาท คือฉบับหมาย จ.1 เพื่อค้ำประกันสัญญากู้ฉบับแรกดังนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะนำสัญญากู้หมาย จ.1 มาเป็นมูลฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดเพราะโจทก์กับจำเลยไม่มีมูลหนี้ต่อกันตามสัญญากู้หมาย จ.1 และโจทก์จำเลยไม่มีเจตนาเรียกร้องตามสัญญากู้หมาย จ.1 เลยการที่จำเลยนำสืบว่า ไม่ได้รับเงิน 20,000 บาทตามสัญญากู้หมาย จ.1. เป็นการนำสืบถึงข้อตกลงอันเป็นมูลเหตุและความประสงค์ที่ทำสัญญากู้หมาย จ.1 ว่ามีอยู่อย่างไร และเป็นการนำสืบว่า มูลหนี้ที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดใช้เงินโจทก์นั้นหามีไม่ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (อ้างฎีกาที่ 781/2507)
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงินกู้และดอกเบี้ยรวม 21,750 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไป 500 บาท ในวันที่จำเลยกู้เงินจากโจทก์ โจทก์ได้ให้จำเลยทำหนังสือไว้ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นสัญญากู้ที่ระบุจำนวนเงินที่จำเลยกู้จากโจทก์ 500 บาท ส่วนอีกฉบับหนึ่งโจทก์ให้จำเลยทำไว้กับโจทก์โดยระบุจำนวนเงิน 20,000 บาท สำหรับที่โจทก์จะเอาไว้เป็นประกันการกู้ ซึ่งถ้าหากจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญากู้ดังกล่าวแล้วเมื่อใด โจทก์จะเอาหนังสือสัญญากู้ฉบับหลังนี้ฟ้องจำเลยเป็นคดีต่อศาล จำเลยไม่ได้กู้เงินจำนวน 20,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ให้จำเลยกู้เงิน 500 บาท โจทก์ให้จำเลยเขียนสัญญากู้ 500 บาทฉบับหนึ่ง แล้วให้เขียนสัญญากู้อีกฉบับหนึ่งว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ 20,000 บาท คือสัญญาหมาย จ.1 เพื่อค้ำประกันสัญญากู้ฉบับแรกจำนวน 500 บาท โดยจำเลยไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้หมาย จ.1 ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำสัญญากู้หมาย จ.1 มาเป็นมูลฟ้องให้จำเลยต้องรับผิด เพราะโจทก์กับจำเลยไม่มีมูลหนี้ต่อกันตามสัญญากู้หมาย จ.1 โจทก์จำเลยไม่มีเจตนาเรียกร้องตามสัญญากู้หมาย จ.1 เลย การที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้รับเงิน 20,000 บาท ตามสัญญาหมาย จ.1 เป็นการนำสืบถึงข้อตกลงอันเป็นมูลเหตุและความประสงค์ที่ทำสัญญากู้หมาย จ.1 ว่ามีอย่างไร และเป็นการนำสืบว่ามูลหนี้ที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดใช้เงินโจทก์นั้น หามีไม่ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (อ้างฎีกาที่ 781/2507)
พิพากษายืน