คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1656/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีความผิดครั้งเดียวและกรรมเดียวกัน เมื่ออัยการโจทก์ได้ฟ้องจำเลยและศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว. ผู้เสียหายจะฟ้องจำเลยในความผิดกรรมเดียวนั้นอีกไม่ได้.แม้ว่าการกระทำหรือกรรมนั้นจะแบ่งแยกความผิดออกได้เป็นหลายฐานหรือเป็นความผิดอาญาแผ่นดินกับความผิดที่ยอมความกันได้ก็ตาม. เพราะคำว่า ‘ในความผิด’ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) มีความหมายถึงการกระทำอันหนึ่งๆในคราวเดียวกัน มิได้หมายถึงฐานความผิด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์ซึ่งเป็นโฉนดที่ดิน กับเอกสารหลักฐานการกู้ยืม ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 188 ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2510 ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์แถลงว่าพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมาได้ฟ้องจำเลยยังศาลชั้นต้นเดียวกันฐานฉ้อโกงเจ้าหนี้ ศาลได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วตามคดีอาญาเลขแดงที่ 878/2510 คดีที่อัยการฟ้องดังกล่าวกับคดีที่โจทก์ฟ้องกรณีนี้เป็นการฟ้องที่หาว่าจำเลยกระทำผิดในครั้งเดียวกัน แต่อัยการฟ้องจำเลยคนละข้อหา ไม่เป็นการฟ้องซ้ำ ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีไม่จำต้องไต่สวนต่อไป ศาลชั้นต้นพิจารณาว่า คดีที่โจทก์ฟ้องนี้เป็นเรื่องที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาที่อ้างถึงเสร็จเด็ดขาดลงนั้น เป็นการกระทำของจำเลยอันเดียวกับที่โจทก์เสนอฟ้องกรณีนี้ จำเลยกระทำผิดครั้งเดียวและกรรมเดียวกันเมื่อศาลได้พิพากษา (ลงโทษ) เสร็จเด็ดขาดไปแล้ว จำเลยก็หาต้องถูกศาลพิพากษาซ้ำกันในการกระทำอันเดียวกันนั้นอีกไม่ แม้ถึงว่าการกระทำนั้นหรือกรรมนั้นจะแบ่งแยกความผิดออกได้เป็นหลายฐานก็ตามเพราะคำว่า “ในความผิด” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) นั้น มีความหมายถึงการกระทำอันหนึ่ง ๆ ในคราวเดียวกันนั้น มิได้หมายถึงฐานความผิด โจทก์จะกลับรื้อฟื้น ขอให้ศาลพิจารณาความผิดในกรรมเดียวกันที่พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลย และศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วโดยอ้างว่าเป็นความผิดคนละฐานหรือเป็นความผิดอาญาแผ่นดินกับความผิดที่ยอมความกันได้นั้น ฟังไม่ขึ้น และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องกรณีก็เป็นอันระงับไปแล้ว พิพากษายืน.

Share