คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1654/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา467นั้น ผู้ขายต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อแล้ว หากปรากฏต่อมาว่าทรัพย์สินนั้นขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวน การเรียกร้องให้ผู้ขายรับผิดจึงจะอยู่ในบังคับแห่งมาตรานี้ โดยเริ่มนับอายุความตั้งแต่เวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขาย
โจทก์ทำสัญญาซื้อนุ่นจากจำเลยหลายฉบับ สัญญาซื้อขายแต่ละฉบับกำหนดเวลาส่งมอบไว้เป็นงวด มีเวลาและจำนวนนุ่นแต่ละงวดแน่นอน แม้การส่งมอบแต่ละงวดจะเป็นการปฏิบัติการการชำระหนี้ตามสัญญาฉบับเดียวกัน แต่ในปัญหาเกี่ยวกับข้อรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่อง จำต้องถือตามงวดที่กำหนดไว้ในสัญญา แม้จะมีการตกลงให้ส่งมอบเป็น2งวด แต่ละงวดห่างกันกว่าปีหนึ่ง หากผู้ขายปฏิบัติการส่งมอบในงวดแรกครบถ้วนแล้วแต่งวดหลังไม่ส่งมอบเลย หรือส่งมอบขาดตกบกพร่อง ผู้ซื้อก็ยังมีสิทธิฟ้องให้ผู้ขายรับผิดสำหรับงวดหลังได้อยู่ แม้จะพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาส่งมอบงวดแรก เมื่อแยกการส่งมอบออกได้เป็นรายงวดดังนี้ งวดใดที่จำเลยส่งมอบแล้ว ต่อมาปรากฏว่าขาดตกบกพร่องย่อมอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 467 สำหรับงวดนั้น แต่งวดใดจำเลยไม่ส่งมอบให้โจทก์เลยก็เป็นการที่จำเลยไม่ปฏิบัติการส่งมอบตามสัญญาเลย ไม่ใช่ส่งมอบขาดตกบกพร่อง อันจะอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 467
ถ้าจำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่ขายผิดจากชนิดที่ระบุไว้ในสัญญา ก็เป็นการไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาเลย ไม่ใช่เรื่องเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ขายเพราะการชำระหนี้ และไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 474 ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการไม่ชำระหนี้โดยทั่วไป แต่ถ้าจำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่ขายตรงตามชนิดในสัญญาแล้ว แต่ปรากฏว่าชำรุดบกพร่อง จำเลยย่อมต้องรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องตามมาตรา 472 และอยู่ในบังคับแห่งเรื่องอายุความตามมาตรา474

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตกลงขายและส่งมอบนุ่นตามที่โจทก์สั่งซื้อแต่ปฏิบัติตามสัญญาไม่สมบูรณ์ และบางกรณีบกพร่องในคุณภาพ ฯลฯขอให้จำเลยใช้เงินค่าเสียหาย 345,079.28 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ฯลฯ

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ฯลฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์ต้องซื้อนุ่น 100 ตัน สูงขึ้นไปอีก 13,448.06 เหรียญอเมริกัน กับค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยส่งนุ่นคุณภาพต่ำ 1,400 เหรียญอเมริกัน และเงินค่านุ่นคุณภาพต่ำที่หักบัญชีกันแล้วยังค้างอยู่อีก 242.29 เหรียญอเมริกันรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,090.35 เหรียญอเมริกัน คิดเป็นเงินไทยในวันฟ้อง 316,897.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา 467 เห็นได้ว่าผู้ขายต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อแล้ว หากปรากฏต่อมาว่าทรัพย์สินนั้นขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวน การเรียกร้องให้ผู้ขายรับผิดจึงจะอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 467 โดยเริ่มนับอายุความตั้งแต่เวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขาย

คดีนี้ โจทก์ทำสัญญาซื้อนุ่นจากจำเลยหลายฉบับ สัญญาซื้อขายแต่ละฉบับกำหนดเวลาส่งมอบนุ่นไว้เป็นงวด มีเวลาและจำนวนนุ่นแต่ละงวดแน่นอน ศาลฎีกาเห็นว่า แม้การส่งมอบนุ่นแต่ละงวดจะเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาฉบับเดียวกัน แต่ในปัญหาเกี่ยวกับข้อรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่อง จำต้องถือตามงวดที่กำหนดไว้ในสัญญา เพราะคู่กรณีได้แบ่งแยกหน้าที่การส่งมอบออกเป็นงวดมีเวลาและจำนวนนุ่นแน่นอนดังกล่าวแล้ว พึงเห็นได้ว่า แม้จะมีการตกลงให้ส่งมอบเป็น 2 งวด แต่ละงวดห่างกันกว่าหนึ่งปี หากผู้ขายปฏิบัติการส่งมอบในงวดแรกครบถ้วนแล้ว แต่งวดหลังไม่ส่งมอบเลยหรือส่งมอบขาดตกบกพร่อง ผู้ซื้อก็ยังมีสิทธิฟ้องให้ผู้ขายรับผิดสำหรับงวดหลังได้อยู่ แม้จะพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาส่งมอบงวดแรกเมื่อแยกการส่งมอบออกได้เป็นรายงวด ดังนี้ งวดใดที่จำเลยส่งมอบแล้วต่อมาปรากฏว่าขาดตกบกพร่องย่อมอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 467 สำหรับงวดนั้น แต่งวดใดจำเลยไม่ส่งมอบให้โจทก์เลย ก็เป็นการที่จำเลยไม่ปฏิบัติการส่งมอบตามสัญญาเลย ไม่ใช่ส่งมอบขาดตกบกพร่องอันจะอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 467

คดีฟังได้ว่า จำนวนที่จำเลยไม่ส่งมอบให้โจทก์ เป็นจำนวนที่จำเลยจะต้องส่งมอบตามงวด แต่จำเลยไม่ส่งมอบในงวดนั้น ๆ เลยส่วนงวดใดที่จำเลยส่งมอบ จำเลยก็ส่งมอบเต็มตามจำนวนของงวดนั้นดังนั้นงวดที่จำเลยไม่ส่งมอบเลย จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 467 และฟังว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา อันจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์คิดเป็นเงินไทย 282,409.26 บาท

สำหรับค่าเสียหายเกี่ยวกับคุณภาพนุ่นสองจำนวนที่โจทก์เรียกร้องรวมเป็นเงิน 1,642.29 เหรียญอเมริกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าความเสียหายสองจำนวนนี้ ถ้าเป็นความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่ขายผิดจากชนิดที่ระบุไว้ในสัญญา ก็เป็นการไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาเลย ไม่ใช่เรื่องเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ขายเพราะการชำระหนี้ และไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 474 ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการไม่ชำระหนี้โดยทั่วไปแต่ถ้าจำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่ขายตรงตามชนิดในสัญญาแล้ว แต่ปรากฏว่าชำรุดบกพร่อง จำเลยย่อมต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องนั้นตามมาตรา 472 และอยู่ในบังคับแห่งเรื่องอายุความตามมาตรา 474 ไม่ปรากฏเลยว่านุ่นทั้งสองจำนวนนี้เป็นนุ่นที่ผิดไปจากชนิดในสัญญาอาจเป็นนุ่นชนิดเดียวกับที่ระบุไว้ในสัญญาแต่ชำรุดบกพร่องก็ได้เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ชัดแจ้งพอที่จะฟังว่าจำเลยไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญานั้น ๆ เลย ก็ต้องฟังว่าจำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แต่ชำรุดบกพร่อง กรณีจึงอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 474 กล่าวคือในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง ห้ามมิให้โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่ง นับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง และเห็นว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับหนี้สองจำนวนนี้ขาดอายุความ

พิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 282,409.26 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์

Share