คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1652/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยวิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนที่ 4 ว่าด้วยการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ซึ่งมาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุดโดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่รวบรวมได้มาโดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายจึงควรได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่อยู่ในอำนาจจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ การดำเนินการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หาเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 ไม่ ทั้งตามมาตรา 22 (1) ก็ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป ส่วนมาตรา 111 และ 112 ที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นอ้างก็เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับในกรณีที่ลูกหนี้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย หาได้ใช้บังคับในกรณีที่เจ้าหนี้ตกเป็นบุคคลล้มละลายเช่นนี้ด้วยไม่ ดังนั้น หากเป็นความจริงตามข้ออ้างของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการขายดังกล่าวย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดี เพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 5,274,801.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ที่จำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 79026 เลขที่ดิน 2196 ตำบลทวีวัฒนา (บางพรม) อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ ให้บังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นมาชำระหนี้จนครบ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจเงินทุน และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบกิจการรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมและสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน 56 แห่งที่ถูกปิดกิจการจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ โจทก์ในคดีนี้เป็นสถาบันการเงินแห่งหนึ่งที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งสั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินได้แต่งตั้งคณะกรรมการทำการชำระบัญชีของโจทก์ตามมาตรา 30 แห่ง พระราชกำหนดการฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ต่อมาผู้ชำระบัญชีของโจทก์ร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้โจทก์ล้มละลาย และศาลมีคำสั่งให้โจทก์ล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รวบรวมทรัพย์สินของโจทก์ผู้ล้มละลายโดยนำสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในคดีนี้ออกขายโดยวิธีอื่นตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ผู้ร้องเป็นผู้ชนะการประมูลและได้ทำหนังสือซื้อขายสิทธิเรียกร้องกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยตามคำพิพากษาในคดีนี้ทั้งได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยตามคำพิพากษา รวมทั้งหลักประกันและการค้ำประกันที่ให้ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 305 และ 306 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีและเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง รวมทั้งมีเหตุจำเป็นที่ต้องร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ผู้ร้องมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยแล้ว ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนที่โจทก์และเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีต่อไป
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้อง ครั้นถึงวันนัด ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดไต่สวน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขายให้แก่ผู้ร้อง หาใช่เป็นการจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ที่ให้อำนาจจัดการทรัพย์สินตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวไม่ หากโอนขายสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาได้เมื่อผู้ร้องรับโอนมาย่อมมีปัญหาว่าจะให้ผู้ดำเนินการบังคับคดี หากให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีเอาชำระหนี้แก่ผู้ร้องย่อมขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าว หรือหากเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการบังคับคดีเอาชำระหนี้แก่ผู้ร้องก็ย่อมไม่มีประโยชน์ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขายสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาให้แก่ผู้ร้อง นอกจากนี้ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 111 และ 112 ก็บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีโอนการบังคับคดีให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 123 ก็บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์รวบรวมได้มาให้ขายตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด หากขายวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ จึงย่อมเห็นได้ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินการบังคับคดีเอาชำระหนี้จากจำเลยจะนำหนี้ตามคำพิพากษาไปโอนขายให้แก่ผู้ใดหาได้ไม่ ดังนี้ แม้ผู้ร้องจะรับโอนมาก็ถือไม่ได้ว่าเป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องสอดเข้าบังคับคดีเอาชำระหนี้จากจำเลย จึงให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยวิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนที่ 4 ว่าด้วยการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งมาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุดโดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่รวบรวมได้มาโดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายจึงควรได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่อยู่ในอำนาจจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ การดำเนินการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หาเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ไม่ ทั้งตามมาตรา 22 (1) ก็ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป ส่วนมาตรา 111 และ 112 ที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นอ้างก็เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับในกรณีที่ลูกหนี้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย หาได้ใช้บังคับในกรณีที่เจ้าหนี้ตกเป็นบุคคลล้มละลายเช่นคดีนี้ด้วยไม่ ดังนั้น หากเป็นความจริงตามข้ออ้างของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการขายดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดี เพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ได้ ที่ศาลชั้นต้นด่วนวินิจฉัยและมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นสมควรส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่

Share