คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1652/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางได้พิพากษายกฟ้องของโจทก์ที่ 14 แล้วจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด อุทธรณ์ของจำเลยสำหรับโจทก์ที่ 14 จึงมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยจัดเวลาพักให้แก่ลูกจ้างเป็น 3 ช่วง คือ10-11.10 นาฬิกา 12.15-16 นาฬิกา และ 15-15.10 นาฬิกาแม้เวลาพักช่วง 10-10.10 นาฬิกา และ 15-15.10 นาฬิกาจะเป็นการพักน้อยกว่าครั้งละ 20 นาที ไม่ชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 6 วรรคสองแต่เวลาทั้งสองช่วงดังกล่าวจำเลยกำหนดไว้ให้ลูกจ้างได้หยุดพักและอยู่ในระหว่างเวลาทำงาน จึงต้องนับเป็นเวลาพักด้วย เมื่อรวมกับเวลาพักช่วง 12.15-13 นาฬิกา แล้วจำเลยกำหนดเวลาพักให้โจทก์แต่ละคนวันละ 1 ชั่วโมง 5 นาทีไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 6 วรรคหนึ่ง ส่วนการที่จำเลยกำหนดเวลาพักไม่ถูกต้อง ก็หาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดให้โจทก์เรียกค่าจ้างเพราะเหตุดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสามสำนวนฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่าโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสามเป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสามเข้าทำงานเป็นกะหมุนเวียนกันไป พนักงานที่ทำงานภายในเวลา 8 ชั่วโมง จำเลยให้พักเพียงวันละ 45 นาทีซึ่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานจะต้องให้โจทก์พักอย่างน้อยวันละ1 ชั่วโมง จึงขาดไปวันละ 15 นาที ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2534ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2536 จำเลยยังค้างค่าจ้างระหว่างพักงานโจทก์อยู่วันละ 15 นาทีคิดเป็นเงินตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคนและจำเลยยังค้างค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้อง
จำเลยทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสามสำนวนให้การว่า จำเลยจัดให้พวกโจทก์และลูกจ้างของจำเลยทั้งหมดมีเวลาพักคนละ 65 นาทีทุกวัน ตามประกาศฉบับที่ 1/2534 ลูกจ้างทั้งหมดของจำเลยรวมทั้งพวกโจทก์ได้ยึดถือปฏิบัติตามโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านจำเลยจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสามครบถ้วนตามกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงรับกันว่า ก่อนเดือนพฤษภาคม2534 เวลาทำงานปกติของจำเลยคือ 8-17 นาฬิกา เวลาพัก 10-10.10นาฬิกา 12-13 นาฬิกา และ 15-15.10 นาฬิกา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม2534 มีการย้ายโรงงานของจำเลยจากอำเภอพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ ไปอยู่ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อให้มีเวลาสำหรับการเดินทางไปทำงานที่ใหม่ จำเลยจึงเปลี่ยนเวลาทำงานปกติเป็น 8.30-17.15 นาฬิกา กับเปลี่ยนเวลาพักเป็น10-10.10 นาฬิกา 12.15-13 นาฬิกา และ 15-15.10 นาฬิกาต่อมาสภาพแรงงานเอ.พี.เนชั่นแนล ได้ไปร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทราว่า จำเลยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้าง ในที่สุดมีการตกลงกันว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าตอบแทนน้ำใจเพื่อให้แก่พนักงานทุกคนเป็นรายเดือนเดือนละ 55 บาท และคู่ความแถลงขอสละประเด็นข้อพิพาทข้ออื่นทั้งหมดโดยให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่าระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2534 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2536โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างพักงาน 15 นาที หรือไม่
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2534 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2536 จำเลยกำหนดเวลาทำงานปกติตั้งแต่ 8.30-17.15 นาฬิกา เวลาพัก 10-10.10 นาฬิกา12.15-13 นาฬิกา และ 15-15.10 นาฬิกา แม้รวมเวลาพักแล้วจะเกิน 1 ชั่วโมง แต่มิใช่เป็นการจัดให้โจทก์แต่ละคนมีเวลาพักติดต่อกันไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2535 ก็มิได้เป็นข้อตกลงล่วงหน้าและยังเป็นข้อตกลงที่กำหนดให้การพักแต่ละครั้งต้องไม่น้อยกว่าครั้งละ 20 นาที อีกทั้งงานของจำเลยมิใช่เป็นงานฉุกเฉินโดยจะหยุดเสียมิได้ โจทก์แต่ละคนจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างพักงาน 15 นาที สำหรับโจทก์ที่ 14 ลาออกตั้งแต่ปี 2534 โจทก์ที่ 14จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์แต่ละคนดังต่อไปนี้ โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 2,950 บาท ฯลฯโจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 1,873 บาท โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน 1,691 บาท ฯลฯโจทก์ที่ 62 เป็นเงิน 994 บาท โจทก์ที่ 64 เป็นเงิน 1,621 บาท ฯลฯโจทก์ที่ 164 เป็นเงิน 1,622 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 14 ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง และระบุในท้ายคำพิพากษาว่าคำขออื่นให้ยกแสดงว่าศาลแรงงานกลางได้พิพากษายกฟ้องของโจทก์ที่ 14 จำเลยอุทธรณ์รวมมาขอให้ศาลฎีกายกฟ้องโจทก์ทั้งหมดดังนี้ อุทธรณ์ของจำเลยสำหรับโจทก์ที่ 14 จึงมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลางแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยสำหรับโจทก์ที่ 14 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยจึงคงมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยสำหรับคดีของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 โจทก์ที่ 15 ถึงที่ 62 และโจทก์ที่ 64ถึงที่ 164 ว่าโจทก์ดังกล่าวมีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับเวลาพักที่จำเลยกำหนดไว้ระหว่างเวลาทำงานปกติ 8.30-17.15 นาฬิกาวันละ 15 นาที หรือไม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่าจำเลยจัดเวลาพักให้แก่ลูกจ้างเป็น 3 ช่วงคือ 10-10.10 นาฬิกา 12.15-13 นาฬิกา และ 15-15.10 นาฬิกาเห็นว่า แม้เวลาพักช่วง 10-10.10 นาฬิกา และ 15-15.10 นาฬิกาจะเป็นการพักน้อยกว่าครั้งละ 20 นาที ไม่ชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 6 วรรคสองแต่เวลาที่กำหนดไว้ทั้งสองช่วงดังกล่าวจำเลยกำหนดไว้ให้ลูกจ้างได้หยุดพักและอยู่ในระหว่างเวลาทำงาน จึงต้องนับเป็นเวลาพักด้วยซึ่งเมื่อรวมกับเวลาพักช่วงระหว่าง 12.15-13 นาฬิกา แล้วจำเลยกำหนดเวลาพักให้แก่โจทก์แต่ละคนวันละ 1 ชั่วโมง 5 นาทีซึ่งเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 6 วรรคแรก กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์มีเวลาพักเพียงวันละ 45 นาที ดังที่โจทก์อ้างมาในฟ้องทั้งการที่จำเลยกำหนดเวลาพักไม่ถูกต้องดังกล่าวข้างต้นก็หาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดให้โจทก์เรียกค่าจ้างเพราะเหตุดังกล่าวได้กรณีมิใช่การกำหนดเวลาพักน้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง อันจะถือว่าจำเลยให้โจทก์ทำงานเกินกว่าเวลาทำงานปกติในแต่ละวันวันละ 15 นาที
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13โจทก์ที่ 15 ถึงที่ 62 และโจทก์ที่ 64 ถึงที่ 164 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share