คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1650/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 75 วรรคแรก มิได้หมายความว่าเมื่อลูกจ้างชั่วคราวทำงานติดต่อกันเกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันแล้วจะมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำตั้งแต่วันเริ่มเข้าทำงาน แต่หมายความว่าลูกจ้างจะมีฐานะเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำตั้งแต่วันทำงานที่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันเป็นต้นไปโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวจำเลยรวม 154 วัน จึงออกจากงาน แสดงว่าโจทก์ทำงานในฐานะลูกจ้างประจำยังไม่ครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันโจทก์จึงยังไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราว ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด และไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวทำงานไม่ติดต่อกัน จำเลยจ้างมาทำงานเฉพาะเวลามีงานให้ทำโดยได้แจ้งขอคนงานไปที่กรมแรงงาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ ๒, ที่ ๓ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวของจำเลยมีกำหนด ๑๕๔ วัน โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ข้อ ๗๕ วรรคแรก กำหนดว่า ให้ลูกจ้างชั่วคราวซึ่งทำงานติดต่อกันเกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน โดยรวมวันหยุดวันลา และวันที่นายจ้างสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำนับตั้งแต่วันทำงานที่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันเป็นต้นไป หมายความว่า ลูกจ้างชั่วคราวจะมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำหรือลูกจ้างชั่วคราวจะมีฐานะเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำตั้งแต่วันทำงานที่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันเป็นต้นไป เช่นสิทธิของลูกจ้างประจำจะได้ค่าชดเชยจะต้องทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน เมื่อลูกจ้างชั่วคราวเปลี่ยนฐานะมามีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำก็จะต้องทำงานในฐานะลูกจ้างประจำจนครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันจึงจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยมิได้หมายความว่าเมื่อลูกจ้างชั่วคราวทำงานติดต่อกันเกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันแล้วจะมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำตั้งแต่วันเข้าทำงาน หรือเปลี่ยนฐานะมามีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำตั้งแต่วันเริ่มเข้าทำงาน โจทก์ทำงานติดต่อกันตั้งแต่วันที่มีสิทธิหรือมีฐานะเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำยังไม่ครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share