คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นการกระทำคนละวันและต่อเจ้าพนักงานตำรวจคนละคนกันแต่จำเลยมีเจตนาเดียวกันเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงตามที่เคยแจ้งข้อความไว้ต่อพนักงานสอบสวน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2543 เวลากลางวัน จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพันตำรวจตรีมีชัย ใยจันอัด พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวงว่า นายจวน ดวงศรี เป็นผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70 – 1482 กาญจนบุรี เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ราชบุรี ช – 3710 เป็นเหตุให้ผู้ขับรถจักรยานยนต์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2533 ในเขตถนนเพชรเกษม ตำบลอ่างทอง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อคันดังกล่าว การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยทำให้พันตำรวจตรีมีชัยได้รับความเสียหายเกี่ยวกับการสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและนายจวนได้รับความเสียหายเนื่องจากถูกดำเนินคดีอาญา ต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2543 เวลากลางวัน จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ ลิ่วไธสงค์ เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ในฐานะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีนายจวนร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเนื่องจากถูกดำเนินคดีอาญาว่า นายจวนเป็นผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70 – 1482 กาญจนบุรี เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ราชบุรี ช – 3710 เป็นเหตุให้ผู้ขับรถจักรยานยนต์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2533 ในเขตถนนเพชรเกษม ตำบลอ่างทอง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อคันดังกล่าว การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยทำให้ร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 จำคุก 2 เดือน และปรับ 1,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2543 จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพันตำรวจตรีมีชัย ใยจันอัด พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวงว่า นายจวน ดวงศรี เป็นผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70 – 1482 กาญจนบุรี เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ราชบุรี ช – 3710 เป็นเหตุให้ผู้ขับรถจักรยานยนต์ถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2543 จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ ลิ่วไธสงค์ เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ในฐานะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีนายจวนร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเนื่องจากถูกดำเนินคดีอาญาว่า นายจวนเป็นผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70 – 1482 กาญจนบุรี เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ราชบุรี ช – 3710 เป็นเหตุให้ผู้ขับรถจักรยานยนต์ถึงแก่ความตาย ซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อคันดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้พันตำรวจตรีมีชัย นายจวน และร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ได้รับความเสียหาย มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพันตำรวจตรีมีชัยในฐานะพนักงานสอบสวน และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ในฐานะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีนายจวนร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า นายจวนเป็นผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ เป็นเหตุให้ผู้ขับรถจักรยานยนต์ถึงแก่ความตายนั้นเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นการกระทำคนละวันและต่อเจ้าพนักงานตำรวจคนละคนกันก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวกันคือเจตนาเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงตามที่เคยแจ้งข้อความไว้ต่อพนักงานสอบสวน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share