คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16434-16650/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กิจการของจำเลยที่ท่าเรือกรุงเทพเป็นการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้ใช้บริการท่าเรือ จำเลยไม่มีหน้าที่ขนสินค้าไปส่งให้ลูกค้า แต่กำหนดระเบียบให้ลูกค้ามารับสินค้าเองที่ท่าเรือ เมื่อเคลื่อนย้ายสินค้าจากเรือสินค้าขึ้นท่าแล้วจะนำไปเก็บไว้ที่โกดังหรือที่ลานกลางแจ้งในบริเวณพื้นที่ของจำเลยเพื่อรอให้เจ้าของสินค้ามารับไป งานที่โจทก์แต่ละคนทำอยู่ในส่วนงานปฏิบัติการเพื่อรองรับการให้บริการในกิจการท่าเรือกรุงเทพของจำเลย ลักษณะของกิจการและลักษณะการทำงานที่จำเลยที่ให้ลูกจ้างจำเลยรวมทั้งโจทก์รวม 217 คน ทำที่ท่าเรือกรุงเทพจึงเป็นเพียงการให้บริการการใช้ท่าเรือและขนถ่ายสินค้าจากเรือนำไปเก็บไว้เพื่อรอให้ผู้มีอำนาจรับสินค้ามารับไปจากท่าเรือของจำเลย โดยมิได้ทำให้สินค้าเคลื่อนที่พ้นจากบริเวณท่าเรือเพื่อให้ถึงผู้รับหรือเจ้าของสินค้า อันเป็นเพียงการขนถ่ายสินค้าจากเรือสินค้าขึ้นท่าเพื่อให้มีการเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างเรือสินค้ากับการขนส่งด้วยยานพาหนะอื่นเท่านั้นไม่ใช่การทำงานขนส่ง จึงไม่ใช่งานขนส่งตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 40 (2)
เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาปรากฏว่าการจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่จำเลยเหมาจ่ายเป็นภาคมิได้จ่ายให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 37 และ 38 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่จำเลยเหมาจ่ายเป็นภาคจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีการปฏิบัติกันมานานแล้ว แต่ก็เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่อาจใช้บังคับได้ โจทก์แต่ละคนจึงมีอำนาจฟ้องโดยไม่จำต้องยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์หรือยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือต่อจำเลยตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 23 หรือมาตรา 25 ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ข้อ 7
การที่จำเลยถือมติคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยครั้งที่ 5/2526 ให้หน่วยงานของจำเลยคืองานของท่าเรือกรุงเทพเป็นงานขนส่ง แล้วไม่จ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ให้ลูกจ้างของจำเลยทุกคนที่ทำงานอยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพนั้น ลูกจ้างอื่นของจำเลยจึงเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรให้คำพิพากษาผูกพันจำเลยและลูกจ้างอื่นของจำเลยด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 53

ย่อยาว

คดีทั้ง 310 สำนวน เดิมศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 310
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์ที่ 116 และที่ 264 ถึงแก่ความตาย ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งแยกคดีของโจทก์ออกไปพิจารณาต่างหาก และโจทก์ที่ 7 ที่ 9 ที่ 12 ที่ 26 ที่ 27 ที่ 36 ที่ 44 ที่ 67 ที่ 73 ที่ 74 ที่ 78 ถึงที่ 80 ที่ 85 ที่ 88 ที่ 91 ที่ 92 ที่ 96 ที่ 98 ถึงที่ 107 ที่ 109 ถึงที่ 112 ที่ 114 ที่ 117 ที่ 119 ที่ 121 ที่ 126 ที่ 128 ที่ 130 ที่ 132 ที่ 142 ที่ 167 ที่ 175 ที่ 181 ที่ 183 ที่ 187 ที่ 192 ที่ 196 ที่ 197 ที่ 200 ที่ 201 ที่ 203 ที่ 204 ที่ 206 ที่ 219 ที่ 220 ที่ 224 ที่ 225 ที่ 228 ที่ 230 ถึงที่ 233 ที่ 239 ที่ 241 ที่ 242 ที่ 247 ที่ 253 ถึงที่ 261 ที่ 265 ถึงที่ 267 ที่ 275 ที่ 280 ที่ 284 ที่ 289 ถึงที่ 295 ที่ 297 และที่ 298 ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาต เหลือโจทก์รวม 217 คน
โจทก์รวม 217 คน ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่ต้องจ่ายเพิ่ม พร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยทุกสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 303 ถึงแก่ความตาย นางสาวชัชฎาภรณ์ ทายาทของโจทก์ที่ 303 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติ ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และค่าทำงานในวันหยุดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์รวม 217 คน รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและบัญชีท้ายคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการท่าเรือเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน มีคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของจำเลย จำเลยมีมติคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยครั้งที่ 5/2526 ให้แบ่งหน่วยงานของจำเลยเป็น 2 ลักษณะ คือ หน่วยงานที่ถือว่าเป็นงานขนส่ง ได้แก่ งานของท่าเรือกรุงเทพ งานของท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ เป็นต้น และหน่วยงานที่ไม่ถือว่าเป็นงานขนส่ง ได้แก่ งานของสำนักอำนวยการ งานของฝ่ายการบุคคลเป็นต้น พนักงานของจำเลยรวมทั้งโจทก์รวม 217 คน รับทราบแล้ว กำหนดเวลาทำงานปกติของพนักงานที่มีตำแหน่งหน้าที่ต้องปฏิบัติงานประจำหรือที่เกี่ยวเนื่องกับงานโรงพักสินค้า คลังสินค้า เครื่องมือยกขน โรงงาน ประจำเรือ และเกี่ยวกับบริการเรือเข้าเทียบท่า และพนักงานอื่น คือ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 8 ถึง 12 นาฬิกา และ 13 ถึง 16.30 นาฬิกา เวลาพัก 12 ถึง 13 นาฬิกา โจทก์รวม 217 คน เป็นลูกจ้างของจำเลยตามสัญญาจ้างและเป็นพนักงานของจำเลยในตำแหน่งประจำท่าเรือกรุงเทพ โดยทำหน้าที่ตามที่ปรากฏรายละเอียดในฟ้องของโจทก์แต่ละคน อัตราค่าล่วงเวลาที่จำเลยกำหนดจ่ายให้พนักงานเป็นไปตามคำสั่งคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ 11/2549 คำสั่งคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ 17/2552 และคำสั่งประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ 1/2546 โดยกำหนดช่วงเวลาทำงานล่วงเวลาเป็นภาค รวม 4 ภาค คือ ภาคเล็ก 2 ภาค ทำงานในระหว่างเวลา 5 ถึง 17 นาฬิกา (ที่ถูก 5 ถึง 7 นาฬิกา) และ 16.30 ถึง 18 นาฬิกา และภาคใหญ่ 2 ภาค ทำงานในระหว่างเวลา 19 ถึง 24 นาฬิกา และ 1 ถึง 5 นาฬิกา ในช่วงพิพาทตำแหน่งหน้าที่ งานที่ทำ อัตราเงินเดือน วันเวลาที่ทำงาน จำนวนชั่วโมงที่ทำงาน และเงินที่จำเลยเหมาจ่ายค่าตอบแทนการทำงานเป็นภาคของโจทก์รวม 217 คน จำเลยกำหนดจ่ายค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดทุกวันที่ 16 ของเดือน และทุกวันที่ 1 ของเดือนถัดไป กิจการของจำเลยที่ท่าเรือกรุงเทพเป็นกิจการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้ใช้บริการท่าเรือจะมีเรือสินค้าเข้ามาขอใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จำเลยไม่มีหน้าที่ขนสินค้าไปส่งให้ลูกค้า แต่กำหนดระเบียบให้ลูกค้ามารับสินค้าเองที่ท่าเรือ เมื่อเคลื่อนย้ายสินค้าจากเรือสินค้าขึ้นท่าแล้วจะนำไปเก็บไว้ที่โกดังหรือที่ลานกลางแจ้งในบริเวณพื้นที่ของจำเลยเพื่อรอให้เจ้าของสินค้ามารับไป โดยไม่ได้ทำให้สินค้าเคลื่อนพ้นจากบริเวณของท่าเรือของจำเลยเพื่อให้ถึงผู้รับหรือเจ้าของสินค้า งานที่โจทก์แต่ละคนทำนั้นอยู่ในส่วนงานปฏิบัติการเพื่อรองรับการให้บริการในกิจการท่าเรือกรุงเทพของจำเลย แล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์รวม 217 คน ไม่เคลือบคลุม โจทก์รวม 217 คน อ้างว่าจำเลยไม่จ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้ถูกต้องถือว่าถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์รวม 217 คน จึงมีอำนาจฟ้อง สิทธิเรียกร้องของโจทก์รวม 217 คน นับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 2 ปี จึงไม่ขาดอายุความ ลักษณะการทำงานของโจทก์รวม 217 คน ไม่ใช่งานขนส่ง จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้โจทก์แต่ละคนตามบัญชีท้ายคำพิพากษา พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า ลักษณะการทำงานของลูกจ้างจำเลยรวมทั้งโจทก์รวม 217 คน ที่ท่าเรือกรุงเทพเป็นงานขนส่งตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจึงอยู่ในบังคับพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 และประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 (1) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุคดีนี้ (ในระหว่างปี 2551 ถึงวันที่โจทก์แต่ละคนฟ้องซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์แต่ละคนยังไม่ขาดอายุความ 2 ปี) กิจการของจำเลยที่ท่าเรือกรุงเทพเป็นกิจการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้ใช้บริการท่าเรือ จำเลยไม่มีหน้าที่ขนสินค้าไปส่งให้ลูกค้า แต่กำหนดระเบียบให้ลูกค้ามารับสินค้าเองที่ท่าเรือ เมื่อเคลื่อนย้ายสินค้าจากเรือสินค้าขึ้นท่าแล้วจะนำไปเก็บไว้ที่โกดังหรือที่ลานกลางแจ้งในบริเวณพื้นที่ของจำเลยเพื่อรอให้เจ้าของสินค้ามารับไป งานที่โจทก์แต่ละคนทำนั้นอยู่ในส่วนงานปฏิบัติการเพื่อรองรับการให้บริการในกิจการท่าเรือกรุงเทพของจำเลย ดังนั้นลักษณะของกิจการและลักษณะการทำงานที่จำเลยให้ลูกจ้างจำเลยรวมทั้งโจทก์รวม 217 คน ทำที่ท่าเรือกรุงเทพจึงเป็นเพียงการให้บริการการใช้ท่าเรือและขนถ่ายสินค้าจากเรือนำไปเก็บไว้เพื่อรอให้ผู้มีอำนาจรับสินค้ามารับไปจากท่าเรือของจำเลย โดยมิได้ทำให้สินค้าเคลื่อนที่พ้นจากบริเวณท่าเรือเพื่อให้ถึงผู้รับหรือเจ้าของสินค้า อันเป็นเพียงการขนถ่ายสินค้าจากเรือสินค้าขึ้นท่าเพื่อให้มีการเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างเรือสินค้ากับการขนส่งด้วยยานพาหนะอื่นเท่านั้น ไม่ใช่การทำงานขนส่ง จึงไม่ใช่งานขนส่งตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ข้อ 40 (2) อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการที่สองว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่จำเลยเหมาจ่ายเป็นภาคขัดต่อกฎหมายหรือไม่ และโจทก์แต่ละคนมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์แต่ละคนตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ข้อ 42 (1) และลักษณะการทำงานของลูกจ้างจำเลยรวมทั้งโจทก์รวม 217 คน ที่ท่าเรือกรุงเทพไม่ใช่งานขนส่งตามข้อ 40 (2) ดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามข้อ 37 และข้อ 38 เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาปรากฏว่าการจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่จำเลยเหมาจ่ายเป็นภาคนั้น มิได้จ่ายให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่จำเลยเหมาจ่ายเป็นภาค จะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีการปฏิบัติกันมานานแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่อาจใช้บังคับได้ โจทก์แต่ละคนจึงมีอำนาจฟ้องโดยไม่จำต้องดำเนินการตามขั้นตอนโดยยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์หรือยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือต่อจำเลยตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 23 หรือมาตรา 25 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการที่สามว่า จำเลยต้องรับผิดในดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางหรือไม่ เห็นว่า ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ข้อ 7 หาใช่เริ่มรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องโจทก์แต่ละคนมิได้อุทธรณ์นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการที่สี่ว่า คำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่ใช้อำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 51 เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยให้เหตุผลแล้วว่า สำหรับโจทก์ที่มีคำขอให้จำเลยจ่ายเงินมาน้อยกว่าจำนวนที่ปรากฏตามสิทธิที่คำนวณได้ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุดและทำงานล่วงเวลาในวันหยุด สมควรที่โจทก์ต้องได้รับเงินทั้งสามจำนวนตามจำนวนที่คำนวณได้ตามสิทธิแห่งกฎหมาย ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรม อาศัยอำนาจตามมาตรา 52 ให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามบัญชีท้ายคำพิพากษา ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางได้แสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้อย่างครบถ้วน จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยมาตรา 51 แล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายว่า ศาลแรงงานกลางคำนวณเงินตามบัญชีท้ายคำพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า บัญชีท้ายคำพิพากษาศาลแรงงานกลางมิได้แสดงรายละเอียดในการคิดคำนวณให้ชัดเจนว่า คำนวณจากวัน เดือน ปี และเวลาใดบ้าง การคำนวณยอดเงินแต่ละยอดคำนวณอย่างไร โจทก์รวม 217 คน เป็นลูกจ้างรายเดือนมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ข้อ 42 แต่ศาลแรงงานกลางกลับพิพากษาให้จำเลยรับผิดในอัตราสองเท่า (คูณ 2) ของค่าจ้างในวันทำงานปกติ และจำนวนชั่วโมงที่ทำงานล่วงเวลาในวันหยุดกลับมีมากกว่าจำนวนชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุดผิดไปจากความเป็นจริงมาก เช่น ในระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2551 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2551 โจทก์ที่ 1 ทำงานล่วงเวลาในวันหยุดจำนวน 800 ชั่วโมง แต่กลับทำงานในวันหยุดเพียง 52 ชั่วโมง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์แต่ละคนทำงานที่พิพาทเป็นชั่วโมงหรือวันทำงาน ซึ่งระบุถึงวันเวลาที่โจทก์แต่ละคนทำงานล่วงเวลา ทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ทำงานในวันหยุด และอัตราเงินเดือนในแต่ละช่วง โดยจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 คือค่าล่วงเวลาในวันทำงานตามข้อ 37 ในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามข้อ 38 ในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ และค่าทำงานในวันหยุดตามข้อ 42 (1) ในอัตราเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด เมื่อเวลาทำงานปกติ ได้แก่ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 8 ถึง 12 นาฬิกา และ 13 ถึง 16.30 นาฬิกา เวลาพัก 12 ถึง 13 นาฬิกา เท่ากับจำเลยให้โจทก์แต่ละคนทำงานในวันทำงานปกติวันละ 7.5 ชั่วโมงต่อวัน จึงให้คิดอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานโดยนำเงินเดือนของโจทก์แต่ละคนที่มีสิทธิได้รับในช่วงเวลาทำงานปกติหารด้วยจำนวน 30 วัน แล้วหารด้วย 7.5 ชั่วโมง จะได้ค่าจ้างต่อชั่วโมงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 68 (ที่ถูกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/6 วรรคสาม) แล้วนำมาคูณกับจำนวนชั่วโมงที่โจทก์แต่ละคนทำ และคูณด้วยจำนวนอัตราในค่าทำงานของเงินทั้งสามจำนวนดังกล่าว แล้วหักออกด้วยจำนวนเงินที่จำเลยจ่ายเป็นการเหมาจ่ายให้แล้ว ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วปรากฏว่าจำเลยยังจ่ายให้ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดในส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์แต่ละคน ซึ่งบัญชีท้ายคำพิพากษาศาลแรงงานกลางได้แสดงรายละเอียดในการคิดคำนวณไว้ชัดเจนแล้วถึงวันเวลาที่ทำงาน อัตราค่าจ้างต่อเดือน ต่อวัน และต่อชั่วโมง จำนวนชั่วโมงที่ทำงานล่วงเวลาทั้งในวันทำงานและวันหยุด และจำนวนวันที่ทำงานในวันหยุด โดยจำนวนที่ระบุในช่องค่าทำงานในวันหยุดที่อยู่เหนือจำนวนเงินนั้นคือ จำนวนวันที่ทำงานในวันหยุด หาใช่จำนวนชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุดดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ แต่ที่ศาลแรงงานกลางคำนวณค่าทำงานในวันหยุดตามบัญชีท้ายคำพิพากษา โดยนำอัตราค่าจ้างต่อวันมาคูณกับจำนวนวันที่ทำงานในวันหยุดแล้วคูณด้วย 2 นั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากจะได้ผลลัพธ์เท่ากับอัตราสองเท่าของค่าจ้างในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด ซึ่งไม่ตรงตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่กำหนดให้เพียงในอัตราเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด การคำนวณค่าทำงานในวันหยุดตามบัญชีท้ายคำพิพากษาศาลแรงงานกลางจึงไม่ชอบ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง การที่จำเลยถือมติคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5/2526 ให้หน่วยงานของจำเลยคืองานของท่าเรือกรุงเทพเป็นงานขนส่ง แล้วไม่จ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ให้ลูกจ้างของจำเลยทุกคนที่ทำงานอยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพ ลูกจ้างอื่นของจำเลยจึงเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรให้คำพิพากษาผูกพันจำเลยและลูกจ้างอื่นของจำเลยด้วยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 53
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้บัญชีท้ายคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในช่อง “ค่าทำงานในวันหยุด (จำนวนชั่วโมง(วันละ)ทำงาน) / คูณ 2 (จำนวนเงินที่ได้รับตามสิทธิ),(บาท)” ที่ศาลแรงงานกลางคำนวณในอัตราสองเท่าของค่าจ้างในวันทำงาน (คูณ 2) โดยให้คำนวณใหม่เป็นในอัตราหนึ่งเท่าของค่าจ้างในวันทำงาน (คูณ 1) แล้วให้นำจำนวนเงินค่าทำงานในวันหยุดที่ศาลแรงงานกลางคำนวณเกินมาไปหักจากยอดเงินในช่อง “รวมจำนวนเงินทั้งสามจำนวนที่ต้องจ่ายตามคำพิพากษา (บาท)” และให้คำพิพากษาในส่วนที่วินิจฉัยว่าลักษณะการทำงานของลูกจ้างจำเลยรวมทั้งโจทก์รวม 217 คน ทำที่ท่าเรือกรุงเทพไม่ใช่งานขนส่งตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ข้อ 40 (2) ผูกพันจำเลยและลูกจ้างอื่นของจำเลยทุกคนที่ปฏิบัติงานที่ท่าเรือกรุงเทพ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share