คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1634/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช้าวันเกิดเหตุ จำเลยขับรถไปติดอ่างล้างมือที่สำนักงานของนายจ้าง ตามคำสั่งของหัวหน้างาน เมื่อติดเสร็จแล้ว
จำเลยขออนุญาตหัวหน้างานไปช่วยญาติแต่งงานหัวหน้างานให้จำเลยเอารถไปเก็บเสียก่อน จำเลยไม่ปฏิบัติตามกลับเอารถไปช่วยงานแต่งงาน ขากลับได้เกิดชนกับรถอื่นขึ้นโดยประมาท เช่นนี้ ยังถือว่าเป็นการกระทำในทางการที่จ้างอยู่(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 722/2508)

ย่อยาว

คดีทั้ง ๔ สำนวน ศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้ขับรถโดยสารประจำทางในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ นายทองหล่อ เหล็งบุญ ได้ขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๓รถทั้งสองคันวิ่งด้วยความเร็วสูงและต่างแซงรถคันหน้าขึ้นไปในระยะที่ไม่ปลอดภัย เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกันอย่างแรง ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ และ ๓ ให้การปฏิเสธทุกสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายทองหล่อเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ มีหน้าที่ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ จำเลยที่ ๓ มีระเบียบของการใช้รถว่าการขอใช้รถเพื่อกิจการอื่นนอกหน้าที่ของ อสร. เช่น เพื่อการกุศลหรืออื่น ๆต้องได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการ อสร. ตอนเช้าวันเกิดเหตุนายทองหล่อได้ขับรถคันนี้ไปในหน้าที่ของ อสร. โดยขับรถไปติดตั้งอ่างล้างมือที่สำนักงานตามคำสั่งของนายอมร ภูมิรัตน์ หัวหน้าฝ่ายศึกษาทดลองและวิจัยของจำเลยที่ ๓ และตอนเที่ยงได้ขอลานายอมรไปช่วยญาติแต่งงาน ซึ่งนายอมรก็อนุญาตให้ไปได้แม้นายอมรจะได้สั่งให้นายทองหล่อเอารถไปเก็บเสียก่อนแต่คำสั่งนั้นเมื่อนายทองหล่อไม่ปฏิบัติตาม ก็หามีผลให้เป็นการปัดความรับผิดของนายจ้างไปไม่หรือถ้านายทองหล่อขับรถไปเก็บ ตราบใดที่ยังไม่ถึงที่เก็บรถ หากมีการละเมิดเกิดขึ้น นายจ้างก็ยังต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปนั้น อันถือว่าเป็นการกระทำในทางการที่จ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๕ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ชัดว่า นายทองหล่อขับรถของจำเลยที่ ๓ ไปในทางการที่จ้าง ตั้งแต่เช้าวันเกิดเหตุจนถึงเวลาเกิดการชนกัน รถของจำเลยที่ ๓ ยังมิได้กลับไปถึงที่เก็บรถเลย แม้ในระหว่างเวลาดังกล่าวนายทองหล่อลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ จะได้ขับรถนั้นไปธุระส่วนตัวโดยนายจ้างไม่ทราบ ก็ยังถือว่าเป็นการกระทำในทางการที่จ้างอยู่ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๒๒/๒๕๐๘ และการที่นายทองหล่อฝ่าฝืนระเบียบการใช้รถของจำเลยที่ ๓ โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชานั้น ระเบียบดังกล่าวเป็นระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลยที่ ๓ เท่านั้นนายจ้างจะนำมาใช้ยันบุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดของตนหาได้ไม่ ฉะนั้น จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดในผลของการละเมิดที่เกิดขึ้นจากการกระทำของนายทองหล่อดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วด้วย
พิพากษายืน

Share