แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงให้โจทก์ทำสัญญาจำนองไว้แก่จำเลย จำเลยให้การว่าจำเลยรับโอนสิทธิเรียกร้องมาจาก ช.ซึ่งโจทก์เป็นหนี้เงินกู้ ช. อยู่ จำเลยจึงนำสืบตามคำให้การของตนได้ และเป็นการนำสืบอธิบายที่มาของหนี้ตามสัญญาจำนองมิใช่เป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารที่ต้องห้ามตามกฎหมาย หนังสือสัญญากู้ที่เป็นเพียงพยานหลักฐานที่อ้างถึงความเป็นมาของสัญญาจำนองว่ามีหนี้เดิมกันอยู่จริง และจำเลยมิได้ฟ้องให้โจทก์รับผิดตามสัญญากู้โดยตรง แม้ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ โจทก์จำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลย โดยโจทก์ยินยอมให้เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จาก ช. มาเป็นจำเลย การทำสัญญาจำนองจึงไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องที่จะต้องมีการทำเป็นหนังสืออีกต่างหาก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้หลอกลวงโจทก์โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยจะให้โจทก์กู้เงินจำนวน 200,000 บาท โดยให้โจทก์ไปจดทะเบียนจำนองที่ดิน โฉนดเลขที่ 4130 ให้แก่จำเลยโจทก์หลงเชื่อจึงไปจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยแต่จำเลยไม่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ แต่กลับให้โจทก์ไปแบ่งแยกโฉนดที่ดินดังกล่าวออกอีก 3 แปลง คือโฉนดเลขที่ 4152, 4153และ 4154 ให้แก่นางแว่น เป็งตัน นางคำตัน ภูดินแดน และนายทองเศรษฐพรหมรินทร์ โดยปลอดจำนอง แต่จำเลยก็ยังไม่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามจำเลย แต่จำเลยเบี่ยงบ่ายเรื่อยมาโจทก์ทวงถามจำเลยอีก จำเลยอ้างว่าได้จ่ายเงินจำนวน 200,000 บาทให้โจทก์แล้ว โจทก์จึงทราบว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตวางแผนหลอกลวงโจทก์มาแต่ต้นเพื่อที่จะให้โจทก์ทำสัญญาจำนองที่ดินให้โดยจำเลยไม่มีเงินจะจ่ายให้แก่โจทก์ แต่สัญญาจำนองฉบับผู้รับจำนองซึ่งเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินด้วยยังอยู่ที่โจทก์ โจทก์ไม่ได้มอบให้จำเลยไป โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากู้ยืมแก่จำเลย ทำให้สัญญาจำนองสิ้นผลไปด้วย แต่จำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้โจทก์ กลับให้โจทก์นำเงินจำนวน 200,000 บาท มอบให้จำเลยเสียก่อน จึงจะจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้มีคำสั่งเพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลย
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นหนี้เงินกู้บิดาจำเลยจำนวน150,000 บาท โจทก์ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงขอเวลาชำระหนี้ในกำหนด 7 ปี โดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 4130 มาจดทะเบียนจำนองประกันการชำระหนี้ บิดาจำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อโจทก์ให้จำเลยเป็นผู้รับจำนอง ต่อมาโจทก์ขอให้จำเลยไปให้ความยินยอมเพื่อแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยปลอดจำนองให้แก่นางแว่น เป็งตัน นางคำตัน ภูดินแดน และนายทอง เศรษฐพรหมรินทร์ผู้ตกลงซื้อที่ดินจากบิดาโจทก์ไว้ก่อนแล้ว จำเลยสงสารโจทก์เพราะกลัวโจทก์ถูกฟ้อง จึงยินยอมให้โจทก์แบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยปลอดจำนอง แม้จะทำให้หลักประกันการชำระหนี้ลดน้อยลงก็ตาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในชั้นฎีกาประการแรกว่าโจทก์ได้กู้เงินจำนวน 150,000 บาท จากนายเชี่ยวชัย ไชยศิวามงคลบิดาของจำเลย อันเป็นมูลเหตุที่โจทก์ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่จำเลยหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์อ้างว่าไม่มีมูลหนี้ระหว่างกันแต่จำเลยหลอกลวงให้โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4130ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ไว้แก่จำเลยโดยจำเลยจะให้โจทก์กู้เงินจำนวน 200,000 บาท พยานโจทก์ตามข้ออ้างดังกล่าวคงมีแต่ตัวโจทก์เท่านั้น นายเพชร ศิริเกตุ สามีโจทก์ และนางสาลี่ นามเสถียร พยานโจทก์อื่นอีกสองปาก หาได้รู้เห็นเกี่ยวกับการทำสัญญาจำนองที่ดินพิพาทไม่ เหตุที่จำนองที่ดินพิพาทโจทก์เบิกความว่า จำเลยจะให้โจทก์กู้เงินจำนวน200,000 บาท และให้นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ หลังจากจดทะเบียนจำนองให้แล้วจำเลยก็ไม่จ่ายเงินจำนวน 200,000 บาท ข้ออ้างดังกล่าวนี้ พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการอ้างเหตุที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ และค่อนข้างจะเลื่อนลอยทั้งดูจะเป็นการหลอกลวงที่ง่ายดาย เพราะการทำสัญญาจำนองในคดีนี้ เป็นการดำเนินการตามกฎหมายและตามระเบียบข้อบังคับของสำนักงานที่ดินเพื่อทำสัญญาจำนองที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจะต้องสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ดังที่ปรากฏในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินฉบับผู้รับจำนองและผู้จำนอง เอกสารหมาย จ.2 และจ.3 ตามลำดับ โดยเฉพาะเหตุที่จำนอง ในข้อ 1 ของสัญญาจำนองดังกล่าวระบุว่า จำนองเป็นประกันหนี้ที่ผู้จำนองได้กู้ยืมเงินไปจากผู้รับจำนองเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท จึงเป็นเหตุผลให้น่าเชื่อว่าการจำนองที่ดินพิพาทมีมูลหนี้ผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยอยู่ก่อนแล้วหาใช่เกิดจากการหลอกลวงดังที่โจทก์อ้างไม่ในข้อนี้จำเลยนำสืบว่าโจทก์กู้ยืมเงินจากนายเชี่ยวชัยไชยศิวามงคล หลายคราว ทั้งนี้เพราะโจทก์เคยเป็นคนกลางติดต่อให้ผู้อื่นกู้ยืมเงินจากนายเชี่ยวชัยมาก่อน โดยเฉพาะหนี้เงินกู้ที่เกี่ยวกับโจทก์นายเชี่ยวชัยเบิกความว่าในปี พ.ศ. 2530 โจทก์ไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้ประมาณ 10 ฉบับโจทก์จึงให้นายเชี่ยวชัยรวมหนี้เงินกู้ทั้งหมดแล้วทำสัญญากู้ขึ้นใหม่เป็นสัญญากู้เอกสารหมาย ล.1 เพียงฉบับเดียว ซึ่งโจทก์เองก็เบิกความรับในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า ได้เขียนสัญญากู้เอกสารหมาย ล.1 ให้นายเชี่ยวชาญไว้ โจทก์โต้แย้งว่าไม่ได้กรอกข้อความในสัญญากู้เอกสารหมาย ล.1 เอง แต่เป็นลายมือเขียนของผู้อื่น โจทก์เพียงแต่ลงลายมือชื่อไว้เท่านั้นสัญญากู้ดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม ข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้เห็นว่า โจทก์เองก็รับว่าเคยเป็นนายหน้าพาผู้อื่นไปกู้เงินจากนายเชี่ยวชัย ในข้อนี้นางสาลี่พยานโจทก์ยอมรับว่า โจทก์พาพยานไปกู้เงินนายเชี่ยวชัย โดยจะต้องทำสัญญากู้ลงลายมือชื่อไว้ แต่ยังไม่ได้กรอกข้อความ คำพยานโจทก์ปากนี้เป็นการยอมรับว่าเมื่อมีการกู้ยืมเงินก็จะต้องลงลายมือชื่อไว้ในสัญญากู้เสมอดังที่นายเชี่ยวชัยอ้างว่า เมื่อผู้กู้ลงลายมือชื่อแล้วก็เป็นอันใช้ได้ ไม่ได้ถือเอาสถานที่ทำสัญญา หรือจะต้องมีพยานในสัญญากู้เป็นสาระสำคัญ นอกจากนี้ปรากฏข้อเท็จจริงตามสัญญากู้ที่โจทก์อ้างเป็นพยานตามเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.21 ที่มีลายมือชื่อของผู้อื่นเป็นผู้กู้ และโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาค้ำประกันด้านหลังของสัญญากู้ทุกฉบับ แสดงว่าบุคคลที่ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เป็นผู้กู้เงินจากนายเชี่ยวชัยดังนั้น ที่โจทก์ได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญากู้ตามเอกสารหมาย ล.1จึงบ่งชี้ว่าโจทก์กู้เงินจากนายเชี่ยวชัยจริง เพราะถ้าโจทก์ไม่ใช่ผู้กู้ ก็ไม่มีเหตุอันใดที่โจทก์จะลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ เนื่องจากในทางปฏิบัติกรณีที่ผู้อื่นเป็นผู้กู้ โจทก์จะเพียงแต่ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเท่านั้น ดังนั้นเมื่อนายเชี่ยวชัยยืนยันว่า จำนวนหนี้สุดท้าย โจทก์ค้างชำระเงินกู้อยู่ 150,000 บาท โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่นจึงมีเหตุผลน่าเชื่อถือ และรับฟังข้อเท็จจริงได้ตามนี้
จำเลยนำสืบต่อไปว่า เมื่อโจทก์ค้างชำระเงินกู้จำนวนดังกล่าว ปรากฏว่าในขณะนั้นโจทก์ยังเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกหลายราย จำเลยจึงขอให้นายเชี่ยวชัยรับจำนองที่ดินพิพาทไว้เพื่อเป็นหลักประกันหนี้ของนายเชี่ยวชัย เมื่อเจรจาระหว่างกันเป็นที่ตกลง โจทก์จึงตกลงจำนองที่ดินพิพาท โดยให้จำเลยเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากนายเชี่ยวชัย ในการคำนวณจำนวนหนี้ได้รวมดอกเบี้ยค้างชำระประมาณ 30,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนจำนองไว้ด้วย รวมเป็นวงเงินที่จำนองเป็นเงิน200,000 บาท ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ชี้ให้เห็นว่า การจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทสืบเนื่องมาจากมูลหนี้เงินกู้ระหว่างนายเชี่ยวชัยบิดาจำเลยกับโจทก์ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสนับสนุนอีกว่าการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทได้กระทำขึ้นโดยความสมัครใจของโจทก์เองดังจะเห็นว่า ต่อมามีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทที่โจทก์เป็นผู้ยื่นคำขอออกไปอีก 3 แปลง เพื่อแบ่งที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้เป็นของนางแว่น เป็งตัน นางคำตัน ภูดินแดนและนายทอง เศรษฐพรหมรินทร์ ทั้งนี้โจทก์เบิกความว่าบุคคลดังกล่าวทั้งสามเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทบางส่วนมาจากบิดาของโจทก์ การแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกไปนี้เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยจำเลยจดทะเบียนปลอดจำนองให้แสดงว่ากรณีหาใช่เป็นการหลอกลวงให้โจทก์จดทะเบียนจำนองโดยปราศจากมูลหนี้ผูกพันไม่ เพราะหากเป็นดังที่โจทก์อ้าง จำเลยย่อมจะปฏิเสธการแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนองให้แก่บุคคลอื่น เนื่องจากทำให้ประโยชน์ของจำเลยที่จะได้รับชำระหนี้เสื่อมสิทธิลง ส่วนจำนวนเงินตามสัญญาจำนองที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยไม่เคยจ่ายให้โจทก์เลยนั้นเมื่อคดีได้ความว่า เป็นการคำนวณยอดหนี้เงินกู้ที่ค้างชำระให้แก่นายเชี่ยวชัยรวมกับดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนจำนอง ที่มียอดเท่ากับวงเงินจำนองเสียแล้ว ก็เห็นได้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิจะขอรับเงินจำนวนใดอีก การจำนองจึงชอบด้วยกฎหมายพยานหลักฐานของจำเลยรับฟังได้ว่า โจทก์จำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยด้วยใจสมัครมิได้ถูกจำเลยหลอกลวง
ที่โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายอีกหลายประการสรุปว่าจำเลยจะนำสืบว่าสัญญาจำนองเป็นหนี้เงินกู้ของนายเชี่ยวชัยบิดาจำเลยไม่ได้ เพราะเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ก็ดีการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างนายเชี่ยวชัย และจำเลยไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็ดีหรือฎีกาว่าสัญญากู้เอกสารหมาย ล.1 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์รับฟังเป็นพยานไม่ได้ และโจทก์ไม่ได้มอบสัญญาจำนอง เอกสารหมาย จ.2 ซึ่งถือว่าเป็นสัญญากู้ยืมให้แก่จำเลยมีผลว่าสัญญากู้ยืมได้เวนคืนแล้วก็ดี ทั้งนี้ โดยโจทก์อ้างว่าได้อุทธรณ์ไว้แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงให้โจทก์ทำสัญญาจำนอง จำเลยให้การว่ารับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากนายเชี่ยวชัยซึ่งโจทก์เป็นหนี้เงินกู้นายเชี่ยวชัย ดังนั้นจำเลยจึงนำสืบตามคำให้การของตนได้ และการนำสืบเช่นนี้เป็นการนำสืบอธิบายที่มาของหนี้ตามสัญญาจำนอง มิใช่เป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ส่วนสัญญากู้เอกสารหมาย ล.1 ก็เป็นเพียงพยานหลักฐานที่อ้างถึงความเป็นมาของสัญญาจำนองว่ามีหนี้เดิมกันอยู่จริง และจำเลยมิได้ฟ้องให้โจทก์รับผิดตามสัญญากู้โดยตรง ศาลจึงรับฟังสัญญากู้ฉบับดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีได้ ทั้งเมื่อฟังว่าโจทก์ได้จำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยด้วยใจสมัครแล้ว การตกลงทำสัญญาจำนองก็เป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยตรงโดยโจทก์ยินยอมให้เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จากนายเชี่ยวชัยมาเป็นจำเลยก่อนแล้ว การทำสัญญาจำนองจึงไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องที่จะต้องมีการทำเป็นหนังสืออีกต่างหากดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน