คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1631/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยไม่ชอบนั้น จะต้องปรากฏว่าการขายทอดตลาดนั้นขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎกระทรวงที่ว่าด้วยเรื่องการขายทอดตลาดทรัพย์สิน เมื่อผู้แทนโจทก์ค้านเฉพาะราคาทรัพย์สินพิพาทว่าผู้เข้าประมูลสู้ราคาประมูลราคาต่ำไป และโจทก์นำสืบแต่เพียงว่าราคาประมูลต่ำกว่าราคาที่สำนักงานวางทรัพย์กลางประเมินไว้โดยไม่มีหลักฐานอื่นประกอบให้เห็นว่าราคาทรัพย์สินพิพาทที่แท้จริงควรจะเป็นจำนวนเท่าใด และในการขายทอดตลาดดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าการประมูลซึ่งทรัพย์สินพิพาทที่ขายทอดตลาดเป็นการสมรู้กันกดราคาซื้อหรือไม่สุจริต การขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทจึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

มูลคดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินให้โจทก์ จำเลยทั้งสี่ทราบคำบังคับแล้วไม่ชำระเงินแก่โจทก์ ศาลได้ออกหมายบังคับคดี โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลย ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว นางกาญจนา นิศามณีวงศ์ ประมูลให้ราคาสูงสุดเป็นเงินจำนวน ๑,๑๗๐,๐๐ บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอนุญาตให้ขายที่ดินและบ้านดังกล่าวแก่นางกาญจนา เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๙
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ดินและบ้านดังกล่าว และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ที่ดินและบ้านดังกล่าวใหม่
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
นางกาญจนา ผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้น และให้ผู้ร้องได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่ว่า การขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๐๘ บัญญัติว่า “เมื่อศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ขายแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดได้ เมื่อพ้นระยะเวลาอย่างน้อยห้าวันนับแต่วันที่ยึด การขายนั้นให้ดำเนินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎกระทรวงว่าด้วยการนั้น และตามข้อกำหนดของศาลซึ่งระบุไว้ในคำสั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์สินนั้น….” ตามบทบัญญัติดังกล่าวการที่จะอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยไม่ชอบนั้น จะต้องปรากฏว่าการขายทอดตลาดนั้นขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎกระทรวงที่ว่าด้วยเรื่องการขายทอดตลาดทรัพย์สิน คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ทรัพย์สินพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดและประกาศขายทอดตลาด สำนักงานวางทรัพย์กลางประเมินราคาไว้ ๑,๖๐๐,๐๐๐ บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีขออนุญาตศาลชั้นต้นขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นอนุญาต เจ้าพนักงานบังคับคดีขออนุญาตศาลชั้นต้นขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทรวมทั้งหมด ๑๒ ครั้ง ในการประมูลขายทอดตลาดครั้งที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ มีผู้เข้าประมูลสู้ราคาแต่ให้ราคาต่ำผู้แทนโจทก์ขอให้งดการขายและให้ประกาศขายทอดตลาดใหม่ ส่วนการประมูลสู้ราคาในการประมูลขายทอดตลาดครั้งที่ ๑๒ จำนวน ๒ ราย ผู้ร้องประมูลสู้ราคาสูงสุดจำนวน ๑,๑๗๐,๐๐ บาท ผู้แทนโจทก์ค้านว่าราคาต่ำไป เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้ขาดทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทแก่ผู้ร้อง ปรากฏตามหนังสือกองยึดอายัดและจำหน่ายทรัพย์สิน กรมบังคับคดี ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๓๐ เรื่อง เสนอรายงานข้อเท็จจริงในการบังคับคดีซึ่งอยู่ในอันดับที่ ๘๕ ในสำนวน เห็นว่า ผู้แทนโจทก์ไม่ได้คัดค้านว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทไม่ถูกต้องคงค้านเฉพาะราคาทรัพย์สินพิพาทว่าผู้เข้าประมูลสู้ราคาประมูลราคาต่ำไป และในเรื่องราคาทรัพย์สินพิพาท โจทก์นำสืบแต่เพียงว่าราคาประมูลต่ำกว่าราคาที่สำนักงานวางทรัพย์กลางประเมินไว้ ไม่มีหลักฐานอื่นประกอบให้เห็นว่าราคาทรัพย์สินพิพาทที่แท้จริงควรจะเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อพิจารณาถึงการดำเนินการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ได้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทตั้งแต่ต้นจนถึงวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้ขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทรวมทั้งสิ้น ๑๒ ครั้ง ปรากฏว่ามีผู้เข้าประมูลสู้ราคาเพียง ๓ ครั้ง แต่ละครั้งประมูลราคาต่ำกว่าผู้ร้อง ทั้งไม่ปรากฏว่าในการขายทอดตลาดมีพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าการประมูลซื้อทรัพย์สินพิพาทในการขายทอดตลาดเป็นราคาที่เหมาะสม ที่โจทก์ฎีกาว่า การขายทอดตลาดเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๙ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ใช่ราคาสูงสุดที่ประมูลกันอย่างเปิดเผยนั้น เห็นว่า ประเด็นดังกล่าวโจทก์มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวตั้งแต่ศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share