คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 163/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีฉ้อโกงให้ประกอบการงานนั้น ค่าแรงงานหรือค่าจ้างที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าจะจ่ายให้ ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยพนักงานอัยการไม่มีอำนาจที่จะขอให้จำเลยใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างที่จำเลยยังไม่จ่ายแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344,83 และให้จำเลยจ่ายค่าแรงงานให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 12 คน เป็นเงิน 29,100 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 344 จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 8เดือน สำหรับค่าแรงงานนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหาย ให้ยกคำขอที่ให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ในชั้นนี้คงมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาเพียงประการเดียวว่าโจทก์มีอำนาจเรียกราคาค่าแรงงานแทนผู้เสียหาย 12 คน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ค่าแรงงานหรือค่าจ้างไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลย แต่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายชอบที่จะไปฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ในทางแพ่งต่างหาก พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้จึงไม่มีอำนาจที่จะขอให้จำเลยใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างที่จำเลยยังไม่จ่ายแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 43 ได้…’
พิพากษายืน.

Share