แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฎีกาว่า การที่จำเลยเข้าทำนาพิพาทไม่เป็นการบุกรุก เพราะเมื่อจำเลยเห็นว่าโจทก์กับพวกสมคบกันฉ้อโกง จะกระทำการเป็นปรปักษ์เกี่ยวแก่ที่ดินพิพาทว่าเป็นของตน จำเลยจึงเข้าป้องกันทรัพย์พิพาทโดยเข้าปลูกข้าวโดยเข้าใจโดยสุจริตว่าจำเลยมีความชอบธรรมที่จะทำได้ตามกฎหมายดังนี้เท่ากับโต้เถียงว่าจำเลยไม่มีเจตนาทางอาญาในการบุกรุกอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน ปรับ 400 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ ฎีกาดังกล่าวจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218
ฎีกาในเรื่องค่าเสียหาย ที่ไม่กล่าวโต้แย้งข้อเท็จจริง ไม่ยกเหตุผลให้ชัดแจ้งว่า เหตุใดที่ไม่ควรให้จำเลยรับผิดตามจำนวนที่ศาลล่างให้ชดใช้และมีเหตุผลใดที่จะให้รับผิดเพียงเท่าที่ฎีกา ดังนี้ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน
สำนวนแรก นางถนอมเป็นโจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตบุกรุกเอาที่ดินที่โจทก์ถือสิทธิครอบครองทำกิน โดยจ้างวานใช้ให้นายปรางค์กับพวกอีกหลายคนเข้าไปไถคราดทำนา คิดเป็นเนื้อที่ ๑๐ ไร่ เป็นการรบกวนสิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๘๔และ ให้ใช้ค่าเสียหาย ๕,๘๓๓ บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
สำนวนหลัง อัยการโจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ใช้จ้างวานให้นายปรางค์กับพวกหลายคนบุกรุกเข้าไปปลูกข้าวในที่ดินของนางถนอม เป็นเนื้อที่ ๑๐ ไร่โดยจำเลยไม่มีสิทธิในที่ดินนั้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อยึดถือครอบครองที่ดินที่บุกรุกอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของนางถนอมโดยปกติสุข ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๕, ๘๓, ๘๔
ทั้งสองสำนวน จำเลยให้การปฏิเสธว่า จำเลยใช้สิทธิเข้าครอบครองทำนาในส่วนที่ดินของจำเลยซึ่งมีอยู่ครึ่งหนึ่ง เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตจึงไม่เป็นละเมิด ค่าเสียหาย ๑,๐๐๐ บาท เป็นอย่างสูง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการเข้าไปรบกวนการครอบครองของนางถนอม พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๕ แต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๖๕ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๖ เดือน ปรับ ๖๐๐ บาท ลดโทษตามมาตรา ๗๘ให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๔ เดือน ปรับ ๔๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้ภายในกำหนด ๒ ปี และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้นางถนอมโจทก์ ๒,๖๐๐ บาทกับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินที่กล่าวนับแต่วันละเมิด และให้จำเลยคืนที่ดินพิพาทให้แก่นางถนอมโจทก์
จำเลยอุทธรณ์ว่า เข้าทำนาพิพาทโดยเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นที่ของจำเลย จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก ค่าเสียหายจำเลยก็ไม่ควรรับผิดและไม่มากถึงจำนวนนั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีส่วนอาญานั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างลงโทษจำคุกจำเลย ๔ เดือน ปรับ ๔๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้ จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๘ จำเลยฎีกาได้แต่เฉพาะข้อกฎหมาย ข้อที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยเข้าทำนาพิพาท ไม่เป็นการบุกรุกเพราะจำเลยเห็นว่านายเครื่องกับนางถนอมโจทก์สมคบกันฉ้อโกงจะกระทำการเป็นปรปักษ์เกี่ยวแก่ที่ดินพิพาทว่าเป็นของตนจำเลยจึงเข้าป้องกันทรัพย์พิพาทโดยเข้าปลูกข้าว โดยเข้าใจโดยสุจริตว่าจำเลยมีความชอบธรรมที่จะทำได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกนั้น ได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อฎีกาดังกล่าวเท่ากับจำเลยโต้เถียงว่าจำเลยไม่มีเจตนาทางอาญาในการบุกรุก อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยฎีกาข้อนี้ให้
สำหรับคดีส่วนแพ่งในประเด็นเรื่องค่าเสียหายที่จำเลยฎีกามานั้นเมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาฟังยุติได้ว่าจำเลยบุกรุก จำเลยก็ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ แต่ข้อฎีกาของจำเลยในเรื่องนี้กล่าวมาแต่เพียงว่าจำเลยไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลล่างที่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย๒,๖๐๐ บาท จำเลยเห็นว่าค่าเสียหายที่โจทก์เสียไปจริงรวมกันไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทเป็นอย่างสูง โดยไม่กล่าวโต้แย้งข้อเท็จจริง ไม่ยกเหตุผลให้ชัดแจ้งว่า เหตุใดที่ไม่ควรให้จำเลยรับผิดเช่นนั้น และมีเหตุผลใดที่จะให้รับผิดได้เพียง ๑,๐๐๐ บาทจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาให้ยกฎีกาจำเลย