แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 ฐานนำของต้องห้ามที่ยังมิได้เสียภาษีอากรขาเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านด่านศุลกากรให้ถูกต้องเป็นความผิดแยกต่างหากจากความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่ายช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามข้อจำกัดอันฝ่าฝืนกฎหมายตามมาตรา 27 ทวิ ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ ทั้งโจทก์มิได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 27 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2538 เวลากลางวันจำเลยทำไม้ตะเคียนหิน ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในบริเวณป่าภูซำผักหนามซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยตัดโค่นออกจากต้น 1 ต้น อันเป็นการทำลายทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ที่ขึ้นอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวโดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ได้รับสัมปทานหรือได้รับการยกเว้นใด ๆตามกฎหมาย และจำเลยกับพวกร่วมกันแปรรูปไม้ตะเคียนหินดังกล่าวโดยเลื่อยออกเป็นท่อน/เหลี่ยม ได้ไม้ตะเคียนหินแปรรูป6 ท่อน/เหลี่ยม ปริมาตร 2.99 ลูกบาศก์เมตร อันเป็นการทำให้ไม้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิมภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันมีไม้ตะเคียนหินแปรรูปจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนอกจากนี้ เมื่อระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน 2521จนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2537 เวลากลางวันติดต่อกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ได้มีผู้ลักลอบนำเลื่อยโซ่ยนต์ยี่ห้อสติลไม่มีหมายเลขเครื่อง 1 เครื่อง พร้อมบาร์และโซ่ราคา 10,000 บาทซึ่งเป็นของที่ผลิตในต่างประเทศและต้องห้ามมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งเป็นของที่ยังมิได้เสียภาษีค่าอากรขาเข้า 3,000 บาทภาษีมูลค่าเพิ่ม 910 บาท ซึ่งรวมราคาของ ค่าอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าด้วยกันแล้วรวมเป็นเงิน 13,910 บาท และยังมิได้ผ่านศุลกากรให้ถูกต้อง จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรครั้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2538 เวลากลางวัน จำเลยได้ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์พร้อมบาร์และโซ่ดังกล่าวจากคนร้ายไว้ในครอบครองของจำเลย โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามข้อจำกัด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลธาตุทอง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิและตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เกี่ยวพันกันเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยไม้ตะเคียนหินแปรรูป เลื่อยโซ่ยนต์พร้อมบาร์และโซ่ดังกล่าว กับยึดได้ขวาน 1 เล่ม อันเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4,6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 6,11, 47, 48, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 91 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14มาตรา 31 วรรคหนึ่ง, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 4, 6, 11 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 47, 48 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง,มาตรา 73 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง, 34, 74 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8 9ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ฐานทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปีและปรับ 12,000 บาท ฐานแปรรูปไม้ จำคุก 1 ปี และปรับ 12,000 บาทฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูป จำคุก 1 ปี และปรับ 12,000 บาทฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อหรือรับจำนำไว้หรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งของที่รู้ว่านำเข้ามาภายในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามข้อจำกัด จำคุก 4 เดือนและปรับ 55,640 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงลงโทษฐานทำไม้ จำคุก 6 เดือน และปรับ6,000 บาท ฐานแปรรูปไม้ จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาทฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูป จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาทฐานช่วยซ่อนเร้นฯ จำคุก 2 เดือน และปรับ 27,820 บาท รวมจำคุก20 เดือน และปรับ 45,820 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยทำงานบริการสังคมมีกำหนด12 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุกไม่ลงโทษปรับ และไม่คุมความประพฤติจำเลย ให้จ่ายสินบนนำจับเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พฤติการณ์แห่งคดีไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะรอการลงโทษดังฎีกาของจำเลย
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27ซึ่งเป็นความผิดฐานนำของต้องห้ามที่ยังมิได้เสียภาษีอากรขาเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านด่านศุลกากรให้ถูกต้อง อันเป็นความผิดแยกต่างหากจากความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามข้อจำกัดอันฝ่าฝืนกฎหมายตามมาตรา 27 ทวิซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษอยู่แล้วนั้น ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 27 อีกต่างหาก ทั้งตามคำบรรยายฟ้องโจทก์มิได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 27 แต่อย่างใด ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1